เป็นอันว่า “เทศกาลวสันตปัญจมี (Basant Festival)” ที่จะมีขึ้นในแคว้นปันจาบ ประเทศปากีสถาน ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะไม่มี “ว่าว” ขึ้นลอยลมบนเหนือท้องฟ้าของแคว้นดังกล่าวอย่างแน่นอน
หรือถ้ามีว่าวขึ้นไปลอยลมบน ก็ต้องเป็นการ “แอบ” หรือ “ลอบ” เอาขึ้น แล้วก็ต้องรีบเอาลงมา หรือไม่ก็ต้องวิ่งหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทัน แบบวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต
เมื่อปรากฏว่า ทางการท้องถิ่นผู้บริหารปกครองของแคว้นปันจาบ ได้ขยับปรับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วย การห้ามเล่นว่าวในพื้นที่แว่นแคว้นแห่งนี้ ซึ่งสภาท้องถิ่นได้ผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมของกฎหมายว่าด้วยการห้ามเล่นว่าวอย่างเด็ดขาดขึ้นมา เมื่อเร็วๆ นี้
โดยเป็นการผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมในตัวบทกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ก่อน “เทศกาลวสันตปัญจมี” จะมาถึง
ทั้งนี้ เทศกาลวสันตปัญจมีข้างต้น ก็เป็นเทศกาลต้อนรับ “ฤดูใบไม้ผลิ (Spring)” ที่กำลังจะมาเยือนนั่นเอง ซึ่งเทศกาลก็มีมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษแล้วในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยผู้คนก็จะมีเฉลิมฉลองเป็นประการต่างๆ นัยว่า แต่เดิมก็เพื่อบูชาเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาฮินดูตามความเชื่อเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ทว่า ต่อมาแคว้นปันจาบของปากีสถานแห่งนี้ เปลี่ยนนับถือศาสนาอิสลาม ก็ได้ตัดทอนเรื่องการบูชาเทพเจ้าในศาสนาฮินดูออกไป แต่ก็ยังคงไว้ในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์จากการเฉลิมฉลอง
หนึ่งในการเฉลิมฉลองที่ว่านั้นก็คือ “การชักว่าวขึ้นสู่บนท้องฟ้า”
โดยประชาชนชาวแว่นแคว้น ต่างพากันชักว่าวให้ลอยลมบน จนแทบจะเต็มท้องฟ้าของแคว้นปันจาบ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลวสันตปัญจมีที่มาเยือน
ทั้งนี้ ว่าวที่นำมาชักขึ้นให้ทะยานสู่ท้องฟ้า ก็มีหลากหลายรูปแบบ ตามแต่ความสามารถด้านศิลปะตกแต่งประดิษฐ์ประดอยจัดทำ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเทศกาลเฉลิมฉลอง ที่น่าจะเป็นช่วงเวลายินดีปรีดา ก็กลับกลายเป็นช่วงเวลาของเคราะห์หามยามร้าย เจ็บเนื้อเจ็บตัวกันไป หรือถ้าร้ายหนัก ก็ถึงขั้นเสียชีวิตกันไปเลยก็มี
ด้วยอุบัติเหตุจากการเล่นว่าวสารพัด
ไม่ว่าจะเป็นการถูกว่าวตกใส่ ซึ่งว่าวที่หลุดจากการลอยลมบน บนท้องฟ้า เวลาร่วงหล่นลงมายังพื้นดิน ก็จะเป็นมุมของหัวว่าว ซึ่งเป็นส่วนที่มีน้ำหนักมากที่สุดจากโครงว่าวที่ทำจากไม้ไผ่ พุ่งปักลงมายังพื้นดิน โดยมีรายงานว่า ผู้คนที่ร่วมงานเทศกาล ได้รับบาดเจ็บจากกรณีที่ว่าวพุ่งมาตกใส่หลายรายด้วยกัน ซึ่งถ้าว่าวพุ่งตกใส่เข้าที่อวัยวะศีรษะ ก็จะยิ่งทำให้บาดเจ็บหนัก
การถูกเชือกว่าวที่ใช้สายป่านเคลือบกับเศษแก้วบ้าง สะเก็ดโลหะเล็กๆบ้าง หรือที่หนักกว่านั้นก็เป็นเชือกว่าวที่ทำจากโลหะเลย บาดตามร่างกาย โดยถ้าเป็นอวัยวะคอถูกเชือกว่าวสายป่านที่เคลือบจากเศษแก้ว สะเก็ดโลหะบาดเอา ก็อาจจะถึงแก่ชีวิต ซึ่งมีรายงานแต่ละปี มีผู้เสียชีวิตจากการถูกเชือกว่าวบาดคอ จนไปตัดหลอดลมหลายรายด้วยกัน
นอกจากนี้ ก็ยังมีกรณีที่ผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย เพราะตกจากที่สูง เนื่องจากปีนขึ้นไปเอาว่าวที่ตกบนกิ่งไม้สูงๆ หรือบนหลังคา
เมื่อเกิดการบาดเจ็บ หรือถึงขั้นสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากเพราะการเล่นว่าวในแต่ละปีเช่นนี้ ทางการท้องถิ่นของแคว้นปันจาบ ก็ได้หามาตรการในลักษณะป้องปราม
โดยเริ่มแรกก็เป็นคำสั่งห้ามแบบคำสั่งฉุกเฉินเมื่อปี 2001 (พ.ศ. 2544) แต่ปรากฏว่า ไม่ได้ผล จนทางการท้องถิ่นของแคว้นปันจาบ ต้องตราเป็นกฎหมายขึ้นมาบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 2007 (พ.ศ. 2550) หรือ 6 ปีหลังจากนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในปี 2024 (พ.ศ. 2567) ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการบังคับใช้ให้เข้มงวดขึ้น ด้วยการลงโทษทั้งต่อผู้ผลิตว่าว และผู้ที่ชักว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า ตลอดจนผู้ที่ช่วยส่งว่าวขึ้นก่อนลอยลมบน โดยผู้กระทำผิดจะไม่ได้รับการประกันตัว
ส่วนบทลงโทษนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ชักว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า ก็จะถูกจำคุกเป็นเวลา 3 ปี หรือถูกปรับเป็นเงิน 100,000 รูปี (คิดเป็นเงินไทยราว 12,000 บาท) หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
ทั้งนี้ หากผู้กระทำความผิดดื้อแพ่ง ขัดขืนไม่ยินยอมรับโทษ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำ หรือโทษปรับ ก็มีสิทธิ์ถูกเพิ่มโทษให้หนักขึ้นไปอีก ทั้งโทษจำ และโทษปรับ
ขณะที่ ผู้ผลิตว่าว และผู้ที่ช่วยส่งว่าวขึ้นก่อนลอยลมบนนั้น ก็มีโทษจำคุก 5 – 7 ปี หรือโทษปรับเป็นเงิน 500,000 รูปี (คิดเป็นเงินไทยราว 60,000 บาท) หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และก็เช่นเดียวกันกับข้างต้น หากผู้กระทำความผิด ขัดขืนไม่ยอมรับโทษ ก็จะเพิ่มโทษ ทั้งโทษจำ และโทษปรับ ให้หนักขึ้นไปอีก
กล่าวกันว่า ผู้กระทำผิดคดีนี้ หากถูกจับได้ และถูกพิพากษาลงโทษ ก็ควรจะรับโทษ ทั้งโทษจำ และโทษปรับ แต่โดยดีเสียตั้งแต่แรกจะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า บทลงโทษดังกล่าว ถ้าจะเบาไป เพราะยังมีผู้ฝ่าฝืน ลักลอบชักว่าวกันอยู่เนืองๆ ก็ส่งผลให้ทางการท้องถิ่นของแคว้นปันจาบ ต้องร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการห้ามเล่นว่าวนี้ขึ้นมาใหม่อีกฉบับ ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง
โดยร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการห้ามเล่นว่าวของแคว้นปันจาบครั้งล่าสุด ได้เพิ่มบทลงโทษ ทั้งโทษจำ และโทษปรับให้หนักขึ้น โดยผู้กระทำความผิดเป็นผู้ชักว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า ก็จะเจอโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 2,000,000 รูปี (คิดเป็นเงินไทยราว 240,000 บาท) หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และถ้าผู้กระทำผิด ขัดขืนต่อการรับโทษ ก็ให้เพิ่มโทษหนักขึ้นไปอีก ส่วนผู้ผลิตว่าวและผู้ช่วยส่งว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า ก็จะถูกโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5,000,000 รูปี (คิดเป็นเงินไทยราว 600,000 บาท) หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และถ้าผู้กระทำผิดไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ก็ให้ไปรับโทษจำคุกเพิ่มแทน โดยจะต้องติดคุกเพิ่มไปอีก 2 ปี