วันที่ 16 ก.พ.68 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ทำการตรวจสอบนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ประธานรัฐสภา) นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่ โดยมีข้อเท็จจริงข้อกฎหมายเป็นตัวอย่างในคำร้องดังนี้

ข้อ 1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (1) และมาตรา 87 บัญญัติว่า

 “มาตรา 28 คณะกรรมการ  ป.ป.ช.  มีหน้าที่และอำนาจ  ดังต่อไปนี้

(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ตุลาการศาลรัฐธรรมนญ  หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ  ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ  ทุจริตต่อหน้าที่  หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย  หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

“มาตรา 87 เมื่อคณะกรรมการ  ป.ป.ช.  ไต่สวนและมีความเห็นว่า  ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ  ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง  ให้คณะกรรมการ  ป.ป.ช.  เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย 

การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง  และการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว  

ให้นำความในมาตรา 81 และมาตรา 86 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม 

การเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง  คณะกรรมการ  ป.ป.ช.  มีอำนาจมอบหมายให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ดำเนินการในศาลแทนได้” 

ข้อ 2. มาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 กำหนดไว้ดังนี้

 “ข้อ 17 ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง”

ข้อ 3. ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เรื่องด่วน

- ขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจับกุมตัว นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายในระหว่างสมัยประชุม ตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ข้อ 4. เอกสารแนบระเบียบวาระดังกล่าว แนบหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ตช 0011.25/537 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นหนังสือการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญากับ นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น โดยพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญาที่ 95/2568 (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารแนบวาระการประชุมแล้ว) กรณี นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงอาจเข้าข่ายอันควรตรวจสอบว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่

ข้อ 5. ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ประธานรัฐสภา) กับ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เช่น เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 หัวข้อ หนังสือ    'บิ๊กโจ๊ก' ว่อนเน็ต! ขอปธ.รัฐสภาฯ ทบทวนผลพิจารณาข้อกล่าวหา กก.ป.ป.ช.ทุจริต และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 หัวข้อ ประเด็นต่อประเด็น “บิ๊กโจ๊ก VS อ.วันนอร์” ใครเป็นต่อ-ใครพลาด! (รายละเอียดปรากฏตามสำเนาข่าวที่แนบ)

ข้อ 6. ข้อเท็จจริงตามข่าวที่ปรากฏ กรณี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ประธานรัฐสภา) กับ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  ควรถือเป็นความปรากฏต่อคณะกรรมการ  ป.ป.ช. ที่ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แล้ว กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ตรวจสอบบุคคลทั้งสามแล้วแต่กรณี ว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยตรง จึงไม่ควรไปร้องหน่วยงานอื่น