แม้จะเห็นด้วยและเชื่อมั่นต่อมาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการลงไปว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติได้ แต่เพื่อประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น-กลาง-ยาว “รศ.ดร.ดุลยภาค” ได้ให้ทิศทางของข้อเสนอและสิ่งที่พึงระวังไว้อย่างน่าสนใจ

นักวิชาการธรรมศาสตร์รายนี้ บอกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเริ่มต้นจากท่าทีการสื่อสารให้กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์และประชาชน รวมถึงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือกำลังประสบความยากลำบากอยู่ในพื้นที่ ให้เข้าใจว่ามาตรการยาแรงเหล่านี้ “มิใช่สิ่งที่จะดำเนินการอย่างถาวร”

ต้องให้เข้าใจในหลักการว่า ตราบใดที่ทุกฝ่ายได้ให้ความช่วยเหลือระหว่างกันจนสามารถขจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรืออาชญากรรมใดๆ ที่สร้างความเดือดร้อนให้สังคมไทย สังคมเมียนมา และสังคมโลกได้สำเร็จ ทางรัฐบาลไทยจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ โดยคืนปัจจัยทั้ง 3 สิ่งให้ตามเดิม

ดังนั้น ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้ คืออาชญากรรมข้ามชาติ มิใช่ต้นเหตุจากประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องผสานพลังความร่วมมือกัน เพื่อหยุดยั้งปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีการแสดงท่าทีของไทยที่ควรจะเป็นต่อประชาคมโลก รศ.ดร.ดุลยภาค ให้คำตอบว่า รัฐบาลไทยควรจะแสดงท่าทีอย่างชัดเจนและแข็งแรง ว่าเราเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงแสดงความพร้อมทั้งในเวทีอาเซียน เวทีระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือแม้กระทั่งเวทีสหประชาชาติ (UN) ที่จะจัดการกับปัญหายาเสพติด ปัญหาสแกมเมอร์ และจัดการกับการมีอยู่ของกลุ่มจีนเทา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยอาจจะต้องขอความร่วมมือจากประเทศภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะประเทศจีน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องทอดเวลาไม่ให้ทางประเทศจีนเข้ามากำกับการบริหารจัดการชายแดนของประเทศไทยในลักษณะที่รวดเร็ว หรือทรงพลังมากจนเกินไป เพราะมันจะทำให้ขาดอิสระในการบริหารจัดการกับปัญหาภายในของตนเอง ดังนั้นประเทศจีนอาจจะเข้ามาร่วมในลักษณะทวิภาคี หรือพหุภาคี แต่เป็นในสัดส่วนที่เหมาะสม

“เพราะมันมีตัวแบบที่เคยเกิดขึ้นในบริเวณชายแดนของเมียนมาและปากีสถาน ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน โดยมีทั้งจีนขาว จีนเทา คล้ายคลึงกับของเรา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ประเทศจีนออกมาบอกว่ารู้สึกเป็นห่วงผลประโยชน์ประเทศของเขา และอยากจะจัดการกับจีนเทา ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศไม่สามารถทำให้จีนเกิดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเองได้ ก็เลยมีการพูดคุยกันว่าจะมีการนำกองทัพจากจีนเข้ามาหรือไม่ แต่มันติดขัดตรงที่มันเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของเมียนมา และปากีสถาน จึงมีการเสนอโมเดลออกมาในลักษณะ เป็นบริษัทรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของเอกชนเข้ามาคุ้มครอง แต่เราก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ รปภ. เหล่านี้จะเป็นทหารจีนรึเปล่า ซึ่งมันก็หมิ่นเหม่ต่อความอิสระของเมียนมาและปากีสถาน ในการจัดการกับความมั่นคงของตนเอง ซึ่งส่วนตัวไม่อยากให้โมเดลแบบนี้เกิดขึ้นที่ชายแดนไทย” รศ.ดร.ดุลยภาค สะท้อน

อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กล่าวต่อไปว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและควรดำเนินการให้เกิดขึ้นจริง คือการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการชายแดน” เป็นการเฉพาะ โดยดึงตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระนาบ ไม่ว่าจะเป็นจากภาคส่วนความมั่นคง ภาคธุรกิจ รวมไปจนถึงตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อสะท้อนมุมมองในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม

คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการตัดสินใจทางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการชายแดน ผ่านการนำวาระต่างๆ เข้าสู่บอร์ดที่ประชุม และมีตัวแทนจากหลากหลายหน่วยงานในการช่วยกันกลั่นกรองพิจารณา พร้อมลงมติด้วยเสียงข้างมาก และในอนาคต อาจจะมีการพัฒนาและยกระดับคณะกรรมการชุดนี้ ขึ้นเป็น “สำนักงานป้องกันพัฒนาชายแดน” ดังเช่นกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งการพัฒนาไปสู่ “กระทรวงกิจการชายแดน“

“ในบางประเด็น หน่วยงานราชการไทยไม่มีเจ้าภาพในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เช่นกรณีท่าข้ามทั้ง 59 ท่า ในบริเวณแม่น้ำเมย จ.ตาก ปรากฏว่าพอจะพิจารณาปิดท่าข้าม เกิดการตั้งคำถามว่ามันควรจะเป็นหน้าที่ของศุลกากร หรือว่าเป็นของศูนย์สั่งการชายแดน ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดประธาน หรือว่าจะเป็นหน่วยงานความมั่นคงอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติมาพิจารณา? สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน มันก็จะทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหา หรือบริหารชายแดน” รศ.ดร.ดุลยภาค ให้ประเด็น

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือประเทศไทยจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการโยกย้ายข้าราชการที่ปฏิบัติการในพื้นที่ ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีถึงความเอาจริงเอาจังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็ควรจะต้องมีการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลา แต่ก็เพื่อความยั่งยืนระยะยาว ในการบริหารชายแดนที่มีความโปร่งใสอย่างแท้จริง

ต่อแนวคิดของ พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ระบุถึงหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาชายแดนด้วยการสร้างกำแพงเพื่อกั้นพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อป้องกันการหลบหนีเข้าเมือง และอาจเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติแก๊งคอลเซ็นเตอร์

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ระบุว่า หากมีการจะสร้างแนวกำแพงเพื่อป้องกันปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองนั้นควรจะต้องเลือกดำเนินการเป็นบางจุดหรือจัดทำโครงการทดลองซึ่งแต่ละจุดอาจมีความยาว 3 – 5 กิโลเมตร (หรือมากกว่านั้น) โดยเน้นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่มีช่องโหว่และสุ่มเสี่ยงต่อการหลบหนีเข้าเมืองเป็นสำคัญ หรืออาจมีการทดลองนำร่องไปก่อนในบางพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ หรืออาจมีการทดลองนำร่องไปก่อนในบางพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยยังไม่มีความจำเป็นต้องสร้างกำแพงด้วยแนวความยาวที่ต่อเนื่อง ด้วยหวั่นเกรงจะกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าชายแดน และเป็นภาระทางด้านงบประมาณ รวมไปถึงการบดบังภูมิทัศน์ระหว่างสองฟางฝั่งชายแดน

รศ.ดร.ดุลยภาค ยังกล่าวต่อไปอีกว่า บริบทของสังคมทุกวันนี้ กำลังดำรงอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ หรือโลกไร้พรมแดนการจะไปสร้างสิ่งกีดขวางการข้ามแดนของผู้คน มันจะทำให้เกิดการขาดเสรีภาพและกระทบต่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝืนต่อลักษณะของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ผู้คนข้ามแดนกันได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการข้ามแดนในบางจุด ก็เต็มไปด้วยภัยคุกคามต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงในรูปแบบการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การพนัน หรือการลักลอบเข้าเมืองด้วยวิธีการผิดกฎหมาย ฯลฯ ดังนั้นการสร้างกำแพงหรือการสร้างรั้วไฟฟ้า จึงอาจมีความจำเป็นเฉพาะบางจุด

“ยกตัวอย่างเช่น ตรงด่านแถวอรัญประเทศ-ปอยเปต ซึ่งมีตลาดโรงเกลือ หรือตรงจุดการค้าด่านหนองเอี่ยน-สตึงบท ก็เป็นพื้นที่ทำมาค้าขายซึ่งมีความคึกคัก การมาสร้างกำแพงหรือรั้วในที่แบบนี้ก็อาจจะกระทบ แต่เราควรไปสร้างในพื้นที่บางจุดที่เป็นจุดพรางสายตา แล้วอาจมีการลักลอบส่งสินค้าผิดกฎหมาย คิดว่าควรจะมาสร้างในพื้นที่แบบนี้ เพื่อบีบบังคับเส้นทางให้คนเขาไปในเส้นทางอื่นที่เราตรวจจับได้ง่ายขึ้น” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

ทั้งนี้ จุดที่ไม่ได้มีการสร้างรั้วหรือกำแพง อาจจะเปลี่ยนเป็นการลาดตระเวน การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่มีความทันสมัย เพื่อตรวจจับสิ่งแปลกปลอมการข้ามแดนในภูมิประเทศ ซึ่งสามารถช่วยชดเชยได้ แต่การสร้างรั้วหรือกำแพงยาวระยะหลายกิโลเมตร เป็นการบดบังภูมิประเทศ ปิดกั้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน และการไหลเวียนของผู้คนที่ใช้ชีวิตตามปกติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงกระทบต่อภาระทางงบประมาณของประเทศ

“ยังคงต้องรอฐานข้อมูลจากฝั่งรัฐบาลว่าจะมีการสร้างตรงจุดไหน และจะผ่านย่านไหนบ้าง แล้วค่อยมาวิเคราะห์ดูอีกทีนึง ซึ่งตรงนี้ส่วนตัวก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่ามันเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมอย่างไร แต่ก็มีข้อพิจารณาตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ควรจะต้องมีการทำงานวิจัย เพื่อศึกษาผลกระทบ ผลได้ผลเสีย และศึกษาเชิงเปรียบเทียบจากกรณีของประเทศอื่นๆ เช่น ชายแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก หรือจุดอื่นๆ เป็นต้น” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวสรุปทิ้งท้าย