วันที่ 14 ก.พ.2568 เวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. พร้อมด้วยสว. พันธุ์ใหม่ แถลงเกี่ยวกับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยน.ส.นันทนา กล่าวว่า ภาพสภาฯล่ม 2 วันที่ ผ่านมาเป็นภาพที่อัปยศที่สุด มันเป็นกระบวนการเล่นเกมหักเหลี่ยมกันทางการเมือง ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ได้ริเริ่มเรื่องนี้ตั้งแต่เดือนธ.ค. แปลว่าทางพรรคการเมืองทุกพรรคทราบอยู่แล้วว่าจะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาที่จะตอบรับหรือปฏิเสธ จนกระทั่งมีการกำหนดวาระในวันที่ 13-14 ก.พ. จากนั้นพรรคการเมืองพรรคแรก ที่ออกมาแสดงท่าทีคือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งออกมา 5 โมงเย็นวันพุธที่ 12 ก.พ. 15 ชั่วโมง ก่อนการประชุมว่า จะไม่เข้าร่วมการพิจารณา แล้วก่อนหน้านี้ 2 เดือน ไม่ได้คิด ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้ตัดสินใจกันเลยหรือ ทำอะไรอยู่ ทำไมความรู้สึกช้า
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า เมื่อเข้าสู่การประชุมแล้ว เราได้เห็นพรรคร่วมรัฐบาล มีท่าทีเหมือนกับไม่ตอบรับ ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลคือเราได้เห็น ว่า สว.เสียงข้างมาก Walk Out หลังจากที่ผลออกมาว่าจะต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญกัน และเมื่อเข้าสู่การประชุมจริงๆ พรรคเพื่อไทยก็ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทำให้สภาล่ม พรรคร่วมรัฐบาลก็หายตัวไป ไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมเช่นเดียวกัน จนมาถึงวันนี้ มีเวลาแก้ตัว แต่สุดท้ายก็ล่มเป็นวันที่ 2 ทั้งที่การประชุมสภาฯครั้งหนึ่งใช้งบประมาณ 8.9 ล้านต่อวัน เราเสียเงินไป 19 ล้าน โดยที่สส. สว.ไม่ได้ทำหน้าที่กันเลย มาถึงตอนเช้ากินโจ๊ก แต่ไม่ทำหน้าที่พิจารณากฎหมาย
"ยิ่งพรรครัฐบาลได้ ถ้าจะปฏิเสธถ้าจะไม่เข้าร่วม ทำไมไม่แจ้งก่อนแล้วทำไมไม่คุยกันนายกรัฐมนตรี ทำไมไม่ดำเนินการในการประสานพรรคร่วม เพื่อที่จะให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคการเมืองแทบทุกพรรคหาเสียงเอาไว้ เพราะถึงเวลาแก้จริงล่มสภากันหมด นี่คือเกมทางการเมือง ที่สะท้อนชัดเจนว่าไม่มีเจตจำนงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พวกเราในฐานะสว.พันธุ์ใหม่ เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญ ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เราเสียใจที่เราต้องมาเจอกับกลเกมทางการเมืองของ นักการเมืองทั้ง สส.และสว.ที่ไม่มีเจตจำนงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ"น.ส.นันทนา กล่าว
ด้านนายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ สว. กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ไม่มีใครได้อภิปรายในการแก้ไขรัฐรรมนูญ เพราะสภาโดนตัดตอน ซึ่งตนได้เตรียมคำถามพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน จึงขอฝากคำถาม 5 ข้อคือ 1.สมเหตุสมผลหรือไม่ ที่ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ กลับไปให้อำนาจกับองค์กรอิสระคือศาลรัฐธรรมนูญตัดสินทำได้หรือไม่
2.การที่พรรคสนับสนุนให้มีการยื่นเรื่องไปที่ศาลฯให้มีคำวินิจฉัย เท่ากับว่าท่านไม่แน่ใจว่าต้องทำประชามติก่อนที่จะยื่นร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ 3.อ้างว่าให้มีการอภิปรายและโหวตในวาระที่ 1 อย่างไรก็โหวตไม่ผ่าน เพราะสว.ที่จะให้เสียงสนับสนุนไม่ครบ 67 คน จึงจงใจทำให้สภาล่ม เพื่อที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ค้างอยู่ก่อน 4.มีโรดแมปต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ในการที่จะไปทำให้เสียงสว.ครบ 67 คน นอกจากการหวังลมๆแล้งๆว่าศาลจะตัดสินชัดเจนหรือคิดไปทำไป เปลี่ยนไปเหมื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความเป็นดิจิทัลอะไรเลย
5. เมื่อญัตติดังกล่าวที่ท่านบอกว่าอยากจะแช่ไว้นั้น ท่านจะไปเอาออกจากตู้เย็นเมื่อไหร่ แล้วมีแผนอย่างไรต่อเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แล้วตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ภายในกี่เดือน กี่วัน กี่ชั่วโมง ซึ่งคงไม่ทันเลือกตั้ง ปี 70 และถ้าสมัยหน้าท่านกลับไปเป็นฝ่ายค้าน จะผลักดันเรื่องนี้ต่ออย่างไร หรือต้องรอไปถึงการเลือกตั้งปี 74 หรือ 78 ถึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ขณะที่นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. กล่าวว่า ขอเรียกร้องนายกฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลดำเนินการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล พูดคุยทำความเข้าใจหาจุดร่วมในการเดินหน้าเพื่อมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งอยากให้นายกฯพยายามมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาไม่เห็นความพยายามเกี่ยวกับเรื่องนี้ของนายกฯเลย เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของนายกฯ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของนายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาล