วันที่ 14 ก.พ.2568 ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ย้ำว่า จะไม่ร่วมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามที่พรรคตามที่ได้แถลงไปก่อนหน้านี้ แต่สส.ทุกคนยังมาร่วมลงชื่อประชุมสภา แต่เมื่อเข้าสู่วาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทย เจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับลงมติสนับสนุนญัตติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนไม่ขอก้าวล่วงพรรคการเมือง แต่ขอมองแค่เฉพราะพรรคภูมิใจไทย ทุกพรรคมีสิทธิ์จะตีความหรือมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน
เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้สส.ของพรรคเพื่อไทยออกมากดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายอนุทิน กล่าวยืนยันว่า ไม่เคยมีการกดดันพรรคภูมิใจไทย ส่วนคำพูดที่ออกมาเป็นเพียงคำพูดของสส. ซึ่งในทางปฏิบัติในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล การพูดคุยกันต้องเป็นระดับหัวหน้าพรรค หรือเต็มที่ก็เลขาธิการพรรค นอกเหนือจากนี้ไม่ต้องนำมาเป็นสาระอะไร ถ้าไปฟังก็เปลืองพื้นที่สมอง ซึ่งไม่มีความจำเป็น ตนพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ไม่เห็นมีอะไรเหมือนกับที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พูดเลย แค่นี้ก็รู้แล้วว่าใครพูดมีน้ำหนัก ใครพูดแล้วไม่ต้องไปฟัง
เมื่อถามว่าในวันนี้พรรคเพื่อไทยเรียกพรรคร่วมรัฐบาลหารือร่วมกันแต่ไม่ได้เชิญพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่รู้เลยว่ามีการเชิญ แต่ตรงนี้เป็นเรื่องของสภา เมื่อพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าประชุมในวาระการพิจารณาก็ไม่ได้รู้สึกอะไรที่จะเชิญหรือไม่เชิญ นักข่าวชอบเอาเรื่องมารวมกัน สภาเป็นเรื่องของสภา รัฐบาลก็เป็นเรื่องของรัฐบาล การแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเสนอร่างเข้ามา ไม่ได้ผ่านคณะรัฐมนตรีเข้ามา ไม่มีการหารือกันมาก่อนภายในพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อถามว่าหากสภาล่มซ้ำทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะวินิจฉัย พรรคภูมิใจไทยไม่สามารถให้ความคิดเห็นที่อยู่นอกการควบคุมของพรรคได้ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายพรรคภูมิใจไทยก็พร้อมให้ความร่วมมือ การตรากฎหมายใดๆ เมื่อมีการเสนอร่างและรับหลักการเรียบร้อยแล้วจะต้องนำเข้ากรรมาธิการเพื่อแปรญัตติ ซึ่งในชั้นนี้พรรคการเมืองใดมีความเชื่อแบบไหนก็ไปโหวตกันในชั้นนี้ก่อนเข้าสู่วาระ3
“หากร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ต้องรอผลของศาล เพราะพรรคภูมิใจไทยเชื่อว่าการเพิ่มหมวด 15/1 เป็นการแก้ไขทั้งฉบับซึ่งจะสุ่มเสี่ยงขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากเป็นแค่การแก้ไข ม.256 ไม่ใช่การแก้ไขทั้งฉบับพรรคภูมิใจไทยก็พร้อมลงมติรับหลักการแล้วไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการ เพราะเราก็มีทั้งเรื่องที่ยากแก้และไม่อยากแก้เหมือนกัน” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่าพรรคประชาชนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเรียกพรรคร่วมรัฐบาลมาหาทางออกร่วมกัน นายอนุทิน กล่าวว่า หากนายกฯ เรียกให้พรรคร่วมไปชี้แจง ตนก็พร้อม หรือหากนายกฯเห็นว่าเรื่องนี้ต้องหารือกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หากเรียกมาเราก็ไป แต่นายกฯ คงไม่ได้ขอให้พรรคภูมิใจไทยกลับท่าทีเพราะมีการแถลงจุดยืนชัดเจนไปแล้ว เพราะเรื่องนี้ที่เสี่ยงต่อการดำรงอยู่ของสส. และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งก็มีผู้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ก็รออยู่ว่าใครจะเป็นคนยื่น