เมื่อวันที่ 13 ก.พ.68 นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วันวาเลนไทน์เป็นช่วงเวลาแห่งความรักและความสุข ซึ่งหลายคนใช้เป็นโอกาสในการแสดงความรักและมิตรภาพต่อกัน แต่ในอีกมุมหนึ่ง วันวาเลนไทน์อาจกลายเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกล่อลวงและการใช้ยาเสพติดโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่อาจตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดีที่ใช้บรรยากาศของงานสังสรรค์เป็นเครื่องมือ หรือแม้กระทั่งถูกแอบผสมลงในเครื่องดื่มโดยไม่รู้ตัว ยาเสพติดที่พบบ่อย อาทิ ยาเสียสาว (GHB) ยาเค (Ketamine) ยาอี (Ecstasy) และสารเสพติดอื่นๆ ที่มีฤทธิ์กดประสาทหรือกระตุ้นประสาท ซึ่งทำให้สูญเสียการควบคุมตัวเอง มึนงง สับสนความจำขาดหาย หรือหมดสติ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกอ่อนแรงผิดปกติ สูญเสียการควบคุมร่างกาย พูดไม่ชัด เดินเซ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด หรือเกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นที่อาจทดลองใช้จากการชักชวนของเพื่อนโดยไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเตือนกลุ่มวัยรุ่นที่กำลังเตรียมการสังสรรค์ หรือมีกิจกรรมในช่วงวันวาเลนไทน์ ให้ระมัดระวังตนเองให้มาก ต้องไม่นำพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มจากแก้วที่เปิดทิ้งไว้หรือรับเครื่องดื่มจากผู้อื่นที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่ทดลองใช้สารเสพติดทุกชนิด ไม่ว่าจะได้รับการชักชวนจากเพื่อนหรือบุคคลใกล้ชิด หากรู้สึกมึนงงหรือมีอาการผิดปกติ ให้รีบแจ้งเพื่อนหรือผู้ที่ไว้ใจเพื่อขอความช่วยเหลือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่เปลี่ยวหรือแยกตัวจากกลุ่มเพื่อนไปกับบุคคลที่เพิ่งรู้จัก อาจใช้แอปพลิเคชันแชร์สถานที่อยู่กับเพื่อนสนิทหรือครอบครัวเพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ในกรณีฉุกเฉินและหมั่นสังเกตอาการของเพื่อนในกลุ่ม หากพบว่ามีอาการคล้ายเมาสุราแม้ไม่ได้ดื่มหรือดื่มไปเพียงเล็กน้อย ให้รีบนำตัวออกจากสถานที่นั้นและนำส่งโรงพยาบาลทันที ขอให้วันวาเลนไทน์ในปีนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความรักที่ปลอดภัย ห่างไกลจากยาเสพติด รักตัวเองให้มาก อย่าให้ยาเสพติดทำลายอนาคตของคุณ
ทั้งนี้หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติด รวมถึงสุรา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
ขอบคุณ เพจ กรมการแพทย์