การประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำของการยางแห่งประเทศไทยภายใต้โครงการน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เฟสที่ 2 เป็นความคืบหน้าในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ชุมชน เกษตรกร เพื่อจัดการควบคุมการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนปลาหมอคางดำลดลงอย่างชัดเจน และจำนวนจังหวัดที่พบปลาหมอคางดำลดลงเหลือ 17 จังหวัดจากเดิม 19 จังหวัด สะท้อนให้เห็นว่าเป็นมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดผลลัพธ์ลดจำนวนปลาหมอคางดำได้อย่างเป็นรูปธรรม
การบูรณาการความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายฝ่ายภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนปัญหาให้เป็นโอกาส ผ่านการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดประชากรปลาหมอคางดำและฟื้นฟูระบบนิเวศ อาทิ การวิจัยปลาหมอคางดำ 4n ทำให้ปลาเป็นหมัน โครงการ “สิบหยิบหนึ่ง” ที่ริเริ่มโดยประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนในการซื้อปลานักล่ามาปล่อยให้ควบคุมปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร
เร็วๆ นี้ การก่อตั้ง "กองทุนปลากะพงสำหรับเกษตรกร" ที่ริเริ่มขึ้นโดยประมงจังหวัดเพชรบุรี เพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถมีกองทุนหมุนเวียนสำหรับใช้ซื้อลูกพันธุ์ปลากะพงทำหน้าที่เป็นปลานักล่า เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังมีการเพาะเลี้ยงกุ้ง ปลา หรือปู ในระบบกึ่งธรรมชาติสามารถควบคุมหรือจำกัดปลาหมอคางดำ ลดผลกระทบที่ทำให้ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
แนวทางที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปลาหมอคางดำที่ถูกจับออกจากแหล่งน้ำ การแปรรูปอาหารต่างๆ เช่น น้ำปลา ปลาร้า ไส้อั่ว ปลาส้ม เป็นต้น ส่งเสริมการบริโภค และสร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับชุมชน รวมถึง การนำปลาหมอคางดำมาใช้หมักเป็นน้ำหมักชีวภาพสำหรับช่วยเพิ่มคุณภาพดินในแปลงนาข้าว หรือแปลงเพาะปลูกพืช แนวทางเหล่านี้มีความคืบหน้าจากการบูรณาการความร่วมมือจากหลายงาน ทั้ง การยางแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน กรมราชทัณฑ์ กรมตำรวจ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่กรมประมง ภาคเอกชนก็มีความสำคัญเช่นกันที่ร่วมมือช่วยจัดการปลาหมอคางดำ อย่าง โรงงานผลิตปลาป่นสิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร เปิดรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำมาผลิตปลาป่น รวมถึง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ดำเนินการ 5 โครงการสนับสนุนกรมประมงในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำนี้ ตั้งแต่ การช่วยรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อผลิตปลาป่นจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม การสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวสำหรับใช้เป็นปลานักล่าจำนวน 200,000 ตัวให้กับกรมประมงปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อช่วยกำจัดปลาหมอคางดำตัวเล็กๆ การสนับสนุนการจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น การสนับสนุนเครื่องมือจับปลา อาหารและน้ำดื่มสำหรับผู้ร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ยังร่วมกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาแนวทางหรือนวัตกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงแนวทางหรือเทคโนโลยีในการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในอนาคต
สำหรับในปี 2568 ซีพีเอฟยังได้สนับสนุนกรมประมงในการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ทั้ง สนับสนุนกิจกรรมจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การสนับสนุนปลานักล่า การส่งเสริมการนำปลามาใช้ประโยชน์ โดยร่วมมือกับกรมประมงและกรมราชทัณฑ์ส่งเสริมการแปรรูปเป็น น้ำปลาปลาหมอคางดำ
ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในการจัดการปัญหาปลาหมอคางดำนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างโดดเด่น เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายของระบบนิเวศ ขณะเดียวกัน ความตระหนักรู้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นพลังที่เข้มแข็งในการจัดการปลาหมอคางดำในการช่วยกันสอดส่องและแจ้งการพบปลาในแหล่งน้ำด้วยมาตรการ “เจอ แจ้ง จับ จบ” รวมทั้ง ช่วยกันจับขึ้นมาทำเป็นมื้ออาหาร ซึ่งช่วยให้ปลาหมอคางดำถูกจัดการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ และชุมชน
การร่วมมือกันเหล่านี้เพื่อจัดการความท้าทายปลาหมอคางดำในประเทศไทยกำลังเป็นตัวอย่างของการประสานพลังในการเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางระบบนิเวศอย่างมีประสิทธิภาพ