“ภูมิธรรม” ลุย “สระแก้ว” ติดตามคืบหน้า “ซีลชายแดน” ปราบยาเสพติด-คอลเซ็นเตอร์-อาชญากรรมไซเบอร์-ตัดไฟ-เน็ต กดดันเมียนมา เผยดูปัญหาเสาสัญญาณ ฮึ่ม! จ่อย้ายเพิ่ม “นายตำรวจ” ร่วมเอี่ยว “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” อีก 5-6 ตำ แหน่ง ยันทำตามขั้นตอนสอบสวน ลั่นออกหมายจับ “หม่องชิตตู”เจอที่ไหนจับทันที ด้าน “ทวี”ยัน“หม่องชิตตู”ไม่รอดมั่นใจ หลักฐานแน่น ดีเอสไอลุยเช็กบิลทั้งขบวนการ ขณะที่ “ผบ.ตร.” จัดหนัก 7 มาตรการคุมเข้มตั้งจุดตรวจกว่า 5,000 จุด 

เมื่อเวลา 09.15 น.วันที่ 12 ก.พ.68 ที่สนามบินกองบินตำรวจ รามอินทรา กรุงเทพฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมพร้อมคณะ เดินทางจากสนามบินตำรวจไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ ร.13 พัน3 รอ.ลงพื้นที่ตรวจราชการ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พร้อมเป็นประธานประชุมติดตามการปฏิบัติงาน และมอบนโยบายแก่ พร้อมรับฟังความคืบหน้าการดำเนินงานภาพรวมของพื้นที่ ทั้งการปราบปรามยาเสพติด-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ และแนว ทางปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เราอยากแก้ไข เดิมอยากลงไปตรวจที่ฝั่งพญาตองซู แต่เมื่อมีการพูดถึงเรื่องตึก 25 ชั้นและอะไรหลายอย่าง จึงประสานลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เพราะสิ่งที่มีการพูดกันเราไม่ได้ปล่อยปละละเลย ไม่ว่ากระแสจะมาจากทางไหนก็ต้องตรวจสอบ วันนี้ไปดูพื้นที่ถ้าเห็นอะไรก็คงจะต้องดำเนินการขณะที่ กสทช.ได้ไปจัดการเรื่องเสาสัญญาณแล้ว และต้องไปดูอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากพบปัญหาด้านเทคนิค  
นายภูมิธรรม กล่าวถึงการออกคำสั่งย้ายเจ้าหน้ที่ตำรวจ ที่เกี่ยวข้องกับแก็งคอลเซ็นเตอร์ว่า ขณะนี้มีคำสั่ง 5-6 ตำแหน่ง คือผู้กำกับ 3 สถานี ซึ่งเป็นพื้นที่ตามรายงานข่าว คือ สถานีตำรวจภูธรแม่สอด, สถานีตำรวจภูธรแม่ระมาด และสถานีตำรวจภูธรพบพระ โดยให้ขาดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่เดิม ให้ย้ายไปกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ส่วนอีก 2 รายนั้นเป็นผู้การฯ จังหวัด และนายพล ต. ได้สั่งย้ายมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ตำรวจทำงานสะดวกและปลอดภัยขึ้น และทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความโปร่งใสชัดเจน
“ทั้งหมดไม่สามารถสั่งการในพื้นที่ได้ แต่ยังไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดมีความผิด เพียงต้องดำเนินการจัดการข้อที่ถูกกล่าวหาที่สอบสวนขั้นต้น เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่อาจจะเป็นการละเลย หรือเรื่องอะไรต่าง ๆ ซึ่งทางตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว หากพบว่ามีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจน ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการนี้ ถือว่าอยู่ในกระบวนการ "SEAL STOP SAFE" ใน 51 อำเภอ 14 จังหวัด ที่หากพบว่ามีปัญหาขึ้นภายในจังหวัด และผู้การฯ จังหวัดต้องรับผิดชอบ และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องที่ใน 76 สถานีก็จะดำเนินการแนวทางนี้ แต่ขึ้นอยู่กับสภาพและข้อเท็จจริง ต้องให้เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสียกำลังใจ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว ก็จะเอาออกมาจากพื้นที่ก่อน ซึ่งการเกี่ยวข้อง อาจไม่เกี่ยวโยงผลประโยชน์ อาจปฏิบัติหน้าที่บกพร่องทำให้เกิดปัญหามาก และตามเงื่อนไขที่คุยในเรื่องซีลชายแดนสามส่วน ถ้าไม่ชัดเจนว่าจะทำไหวก็ให้แจ้งมา แต่ถ้ายืนยันว่าทำไหว ก็ต้องทำให้เกิดผล เพราะกระบวนการนี้มีทั้งคุณและโทษ แต่ไม่ได้มุ่งหมายว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายผิด แต่ต้องรับผิดชอบในพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่”

นายภูมิธรรม ยังเปิดเผยถึงกรณีทางการเมียนมาขอส่งผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอก มาพักไว้ที่ไทย เพื่อตรวจสอบก่อนส่งกลับประเทศ ว่า ได้รับการประสานมาว่าวันนี้จะส่งเข้ามา 53 คน จาก 8 ประเทศ ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ 12 คน เคนยา 4 คน แทนซาเนีย 1 คน บราซิล 2 คน เอธิโอเปีย 21 คน  ปากีสถาน 5 คน บังกลาเทศ 2 คน  และเนปาล 6 คน  โดยได้รับการติดต่อมา เนื่องจากเมียนมาดูแลไม่ไหว การทำงานเขาลดประสิทธิภาพลง หรือปิดลง จึงปล่อยตัวออกมา ขณะเดียวกันเราได้มีการประสานงานภายในกับเมียนมาว่าหากต้องการลดความกดดันลงในเรื่องการตัดน้ำมัน ตัดไฟ ตัดอินเทอร์เน็ต  จะต้องทำให้เราเห็นว่าประเทศเขาปลอดภัยจากเรื่องนี้ ดังนั้นเขาเองต้องจัดการดำเนินการตามแรงกดดัน ตรงนี้เราก็มาถูกทางแล้ว การที่มาขู่เราว่าจะตัดเส้นทางไม่ให้สินค้าเข้าไม่ใช่ปัญหาของเรา เป็นปัญหาของเขา ขู่เราไม่ได้

เมื่อถามว่าการที่ทางเมียนมาดูแลคนไม่ได้แล้วส่งมายังไทย จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์ดูแลผู้อพยพแทนหรือไม่    นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนพูดชัดเจนแล้วว่าเราจะไม่ตั้งศูนย์อพยพ การส่งเข้ามา เมื่อแจ้งเรามา เราแจ้งประเทศเขา ก็จะตรวจสอบกัน เวลาเมียนมาส่งมาจะมีรายชื่อ มีพาสปอร์ตชัดเจน เราก็ส่งประเทศนั้นๆ  ซึ่งนอกเหนือจากจีน ก็มีประเทศในภูมิภาคต่างๆที่มีสถานทูตติดต่อมาว่าได้รับข้อมูล ว่าคนของเขามีปัญหา ซึ่งเราก็ประสานอยู่ เพราะเขาไม่มีทางที่จะติดต่อเองได้ เราก็บอกว่าเราพยายามทำให้  หากได้คนเมื่อไหร่ก็จะประสานไปยังสถานทูต เขาก็จะมาเคลียร์ ในส่วนที่เขาเคลียร์เองก็มี ญาติเขาไปจ่ายเงินไถ่ตัวกันมา เราก็พอทราบข่าวบ้าง ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหา 

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทั้งนี้หากมีการประสานงานมา เราก็จะขอเข้ากระบวนการตรวจสอบของเราก่อน ถ้าพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวพันและถูกหลอกลวงมา เราก็จะส่งคืน แต่ต้องขอตรวจสอบรายละเอียดก่อน ว่ามาลงที่จุดไหน ใครติดต่อมา เอาไปพักไว้ที่ไหน กระบวนการเป็นอย่างไรกว่าจะเข้าชายแดนเมียนมา และใครเป็นคนประสาน เพื่อให้รู้กระบวนการ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 1 เดือนในการตรวจสอบ ซึ่งตรงนี้จะเป็นข้อมูลให้เราไปหาจุดที่มีปัญหาอยู่ หลังจบกระบวนการแล้วก็จะส่งคืน ถ้าประเทศเขาไม่มีความชัดเจนว่าจะรับคนกลับ เราก็จะไม่ให้ส่งเข้ามา เราไม่รับ

เมื่อถามว่าแนวโน้มที่เมียนมาจะผลักดัน ส่งคนกลับมาไทยจะมีมากขึ้นเรื่อยๆหรือไม่ นายภูมิธรรม  กล่าวว่า ตรงนี้พูดยาก เราทราบเพียงว่ามีกระบวนการนี้มาก เราก็ทำอยู่ แต่ว่าเบื้องต้นเรามีกองกำลังที่อยู่ตามแนวชายแดนเตรียมป้องกันไว้แล้ว ถ้ามีการทะลักเข้ามา ซึ่งบางคนบอกเป็นหมื่น บางคนบอกเป็นแสน เราก็ดูอยู่ เมื่อวานตนได้รับรายงานจากทางอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ซึ่งกลุ่มที่มา 53 คนวันนี้ก็มาทางนี้พอดี โดยเรื่องนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ แต่เราก็เตรียมไว้สูงสุด เพราะเราไม่รู้การปรับตัวและการตัดสินใจของเขา

นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมออกหมายจับ พ.อ.หม่องชิตตู ผู้นำคนปัจจุบันของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง ว่า ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าหมายจับออกแล้วหรือไม่ แต่มีการติดต่อประสานมาเพื่อขอหลักฐานในการออกหมายจับ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการ

“เมื่อออกหมายจับแล้วคงไปจับในประเทศเขาไม่ได้ เพราะถือเป็นอธิปไตย แต่ถ้าออกหมายจับแล้วมีการขยับเข้ามาพื้นที่ของไทย ก็สามารถจับได้เลย ซึ่งหากมีการออกหมายจับก็จะไปเฝ้าดูที่พักที่มีข่าวว่าอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ” 
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงพัน.อ.ซอชิตตู่ หรือ พัน.อ.หม่องชิตตู, พัน.ต.เต่ง วิน และ พัน.ท.เมาะ โต่ง ทหารของกองกำลังรักษาชายแดนรัฐกะเหรี่ยง (บีจีเอฟ) ที่ล่าสุดออกมาตอบโต้หลังกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมออกหมายจับผู้นำสามคน หลังมีหลักฐานพัวพันกับแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ว่า พวกเขาไม่ใช่คนไทย

เมื่อถามอีกว่าจะต้องมีการประสานตำรวจสากล ออกเป็นหมายแดงด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นคดีนอกราชอาณาจักร ก็จะมีอัยการกับดีเอสไอ ที่สอบสวนเรื่องนี้มานานแล้ว ซึ่งจะต้องสอบสวนถึงขบวนการทั้งหมด
เมื่อถามอีกว่าขณะที่ดีเอสไอ มีหลักฐานพอที่จะสามารถเอาผิดได้ใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรามีเหยื่อที่ได้คัดกรองอยู่

เมื่อถามอีกว่ากรณีที่ พัน.อ.หม่องชิตตู ออกมาระบุว่าไม่ได้เป็นการหลอกลวง แต่เป็นการเดินทางข้ามมาเองจากฝั่งประเทศไทย พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เราได้สอบสวนผ่านวิชาชีพแล้ว

ส่วน พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า หลังจากที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำหนด 7 มาตรการคุมเข้มแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง ถูกหลอกลวง หรือประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย และอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ทุกหน่วยดำเนินการอย่างจริงจังให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จับต้องได้ มีผลงานออกมาสู่สายตาพี่น้องประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล พบว่าตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ถึง 11 กุมภาพันธ์ 2568 มีผลการปฏิบัติที่สำคัญตาม 7 นโยบายของ ผบ.ตร. ในทุกด้าน ดังนี้

ด้านการป้องกัน มีการตั้งจุดตรวจ 5,099 จุดสำคัญทั่วประเทศ , ตรวจสอบยานพาหนะ 478,282 คัน ทั้งในเส้นทางและรถข้ามชายแดน ตรวจสอบข้อมูลป้ายทะเบียนรถและใบหน้าบุคคล 21,832 ข้อมูล , ตรวจสอบที่พัก สถานีขนส่ง จุดผ่านแดน ช่องทางธรรมชาติ 8,651 ครั้ง ด้านการปราบปราม จับกุมต่างด้าวผิดกฎหมาย 524 ราย ปฏิเสธการเข้าเมือง 231 ราย เพิกถอนใบอนุญาต 12 ราย บันทึกข้อมูลเฝ้าระวัง 45,701 ราย , จับกุมยานพาหนะเสี่ยง 76 ราย จับกุมรายใหญ่สำคัญหลายคดี เช่น ตำรวจสอบสวนกลางจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย พร้อม Simbox 2 เครื่อง ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หลายรายการที่ จ.สงขลา และจับกุมดาวกองร้อย นายร้อยปอยเปต แก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ , ตำรวจตระเวนชายแดนจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย พร้อมอุปกรณ์สื่อสารจำนวนมากในพื้นที่ จ.ตาก , ตำรวจนครบาลจับผู้ต้องหาชาวจีน 2 ราย เครือข่ายใหญ่ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมยึดเงินสดของกลางกว่า 15 ล้านบาท , ตำรวจภูธรภาค 2 จับแก๊งชาวจีนปล่อยเงินกู้ออนไลน์ข้ามชาติในพื้นที่ จ.ชลบุรี , ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับผู้ต้องหาคนจีนและคนไทยพาคนต่างด้าวไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น