วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีวิบูลย์บริหารธุรกิจ รามอินทรา (VBAC) จัดโครงการ "โลจิสติกส์ขับเคลื่อนอนาคต" เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในโลจิสติกส์ยุคใหม่ และพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้สามารถทำหน้าที่เป็น Facilitator ถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วม โดยนักศึกษาจากทั้งสองสถาบันได้แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับโลจิสติกส์ พร้อมทั้งฝึกทักษะการเป็นผู้นำการเรียนรู้ และการถ่ายทอดความรู้ไปยังเครือข่ายการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

 

ในการดำเนินโครงการ หัวใจสำคัญคือการที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับหน้าที่ Facilitator ซึ่งไม่เพียงแค่ถ่ายทอดความรู้ด้านโลจิสติกส์ แต่ยังเป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันหาทางแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Peer Learning หรือการเรียนรู้จากเพื่อนสู่เพื่อน โดยการเรียนรู้ในลักษณะนี้จะช่วยส่งเสริมให้เพื่อนร่วมสถาบันจากวิทยาลัยเทคโนโลยีวิบูลย์บริหารธุรกิจ รามอินทรา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงและพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกการทำงานจริง

 

นอกจากนี้นักศึกษายังได้นำรูปแบบ Active Learning มาใช้ในการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจำลองสถานการณ์การบริหารจัดการคลังสินค้า การวางแผนเส้นทางขนส่ง และการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าที่ต้องจัดเก็บในคลัง โดยผ่านการลงมือทำในสถานการณ์จริง เพื่อฝึกฝนทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาไม่เพียงแค่เข้าใจเนื้อหาทางทฤษฎี แต่ยังสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในด้านการทำงานจริง

 

นางสาววรรณิกา ธุสาวุฒิ แกนนำนักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยธุรกิจับณฑิตย์ พร้อมด้วยกลุ่มนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย นายพัชรพล วันทรัพย์, นายศิรวิทย์ สามเรือนทอง, นางสาววริศรา อยู่เจริญ, นางสาวแพรพร มาตแพง, นางสาวกันติชา แซ่ตั้ง และ นายภัทรเวช ศรีชัยวงษ์ยศ เปิดใจถึงความสำคัญของการเป็น Facilitator ในโครงการนี้ว่า การเป็น Facilitator ไม่ได้หมายความเพียงแค่การสอน แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการคิด วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงการร่วมกันหาทางแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง การเรียนรู้ในลักษณะนี้ยังทำให้ทุกคนได้ทดลองและตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมและทำให้พวกเขาจดจำเนื้อหามากขึ้น

 

“แนวทางของเราในการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานด้านโลจิสติกส์ คือการใช้ Active Learning โดยให้ผู้เรียนได้ทดลองวิเคราะห์ปัญหาและตัดสินใจด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ในการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการคลังสินค้า เราไม่ได้สอนแค่ทฤษฎี แต่ให้นักศึกษาได้ทำ Workshop จำลองสถานการณ์จริง เช่น การวางแผนเส้นทางขนส่ง การจัดลำดับความสำคัญของสินค้าที่ต้องจัดเก็บในคลัง ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น" นางสาววรรณิกา กล่าว

 

การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างทั้งสองสถาบัน ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ที่หลากหลายและเปิดมุมมองใหม่ให้กับนักศึกษา โดยนางสาวสาวิตรี ลาดนอก ครูประจำสาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยเทคโนโลยีวิบูลย์บริหารธุรกิจ รามอินทรา กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เพียงแค่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่างจากห้องเรียนปกติ แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้พวกเขาสำหรับการทำงานในโลกจริง โดยการที่นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสถาบันยังช่วยสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และการพัฒนาอาชีพของนักศึกษาในระยะยาว

 

ขณะเดียวกัน อาจารย์รมิดา ไชยรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและแผนงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีวิบูลย์บริหารธุรกิจ รามอินทรา ได้กล่าวเสริมถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในด้านโลจิสติกส์ว่า การจัดกิจกรรมลักษณะนี้เป็นแนวทางที่ดี ในการพัฒนาความรู้พื้นฐานด้านโลจิสติกส์ผ่านการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ นักศึกษาจะได้ฝึกการคิดเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการเรียนรู้วิธีบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และเข้าใจถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์

 

อาจารย์รมิดา ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "สิ่งที่ผมเห็นจากกิจกรรมนี้คือ นักศึกษาของทั้งสองสถาบันได้ฝึกฝนทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการทำงานด้านโลจิสติกส์ เราหวังว่าความร่วมมือทางวิชาการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในระยะยาว และช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมั่นใจ" 

 

ด้าน ดร.คุณากร วิวัฒนากรวงศ์ รองคณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมจริง ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้โครงการนี้ยังแสดงให้เห็นว่านักศึกษาสามารถเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และสามารถช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเพื่อนนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

"การใช้แนวทาง Facilitator-Based Learning ทำให้นักศึกษาได้รับทักษะที่สำคัญ เช่น การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับโลกธุรกิจในอนาคต เราหวังว่าการร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการ และการขยายองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่" ดร.คุณากร กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับโครงการโลจิสติกส์ขับเคลื่อนอนาคต ไม่เพียงแค่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสองสถาบันการศึกษา แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วม การฝึกฝนทักษะจริง และการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถต่อยอดในการพัฒนาการศึกษา รวมถึงเพิ่มโอกาสในการหางานทำง่ายในอนาคต โดยนักศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับทักษะและประสบการณ์ ที่ช่วยเสริมความสามารถในการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงาน พร้อมทั้งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยให้เติบโตและทันสมัยในยุคใหม่ ทั้งนี้สามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.dpu.ac.th/th/college-of-innovative-business-and-accountancy