วันที่ 12 ก.พ.68 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าแนวทางสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ว่า กรุงเทพมหานครมีจุดรอรถเมล์ 5,610 จุด แบ่งเป็น แบบศาลา 2,520 จุด แบบเตนท์และเสาป้าย 3,081 จุด กทม.จึงมุ่งเน้นพัฒนาจุดรอรถเมล์แบบเตนท์และเสาป้ายเพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร โดยตั้งเป้า 500 จุด ประกอบด้วย ปี 2566 จำนวน 30 จุด ปี 2467 จำนวน 89 จุด ปี 2568 จำนวน 300 จุด และปี 2569 จำนวน 81 จุด มีการพัฒนาให้เป็นป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ โดยปรับปรุงให้เป็นศาลา มีที่นั่งและหลังคากันแดดฝน เนื่องจากของเดิมเป็นเตนท์ผ้าใบ ไม่คงทนปลอดภัย บางจุดไม่มีที่นั่งรอ และไม่มีข้อมูลบอกสายรถเมล์วิ่งผ่าน โดยป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่นี้ มีโครงสร้างประกอบด้วย ไฟฟ้าส่องสว่าง หลังคากันแดดฝนชั่วคราวกว้างกว่ามาตรฐานเดิมประมาณ 2.3 เมตร มีป้ายบอกเส้นทางและสายรถเมล์ ไม่กีดขวางทางเท้า มีที่นั่งรองรับและพื้นที่ออกแบบสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ โดยจัดสร้างเป็นศาลาถาวร 2 ขนาดเพื่อความเหมาะสมของพื้นที่ ได้แก่ ขนาด 2.3x3 เมตร จำนวน 3 ที่นั่ง และขนาด 2.3x6 เมตร จำนวน 6 ที่นั่ง

 

สำหรับการก่อสร้างศาลาดังกล่าวมีการออกแบบตามแนวทางอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รองรับผู้ใช้วีลแชร์ มีการหล่อฐานรากฝังลงดินเพื่อความมั่นคง ซึ่งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้างทั้งหมดยืนยันความโปร่งใส เพราะมีการถอดราคากลาง และสืบราคาตามกฎหมาย โดยใช้ราคาของกระทรวงพาณิชย์ มีรายละเอียดทุกรายการ สามารถตรวจสอบได้

 

"การก่อสร้างมีหลายขั้นตอน ต้องใช้เวลา งานก่อสร้างศาลาไม่ใช่ก่อสร้างเสร็จแล้วยกมาวาง แต่ต้องขุดทางเท้าวางรากฐาน ย้ายงานระบบเดิม วางท่อจ่ายไฟใต้ดิน ปูกระเบื้องใหม่ และทำได้เฉพาะกลางคืน เพราะกลางวันมีคนสัญจร ไม่ได้ล็อกคุณสมบัติ ใครก็ยื่นได้ ในข้อกำหนดและรายละเอียดงาน (TOR) กำหนดให้ผู้รับจ้างมีผลงานด้านการก่อสร้างอย่างน้อยกว่าล้านบาท เปิดกว้างให้ผู้รับเหมาจำนวนมาก ไม่มีการล็อก และเปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นของข้อกำหนดและรายละเอียดงาน (TOR) ไม่มีผู้คัดค้าน ส่วนช่วงประมูลมีผู้มายื่นน้อยราย เนื่องจากงานยากและความเสี่ยงสูง"

 

นายวิศณุ กล่าวว่า ส่วนกรณีการตั้งคำถามว่าทำไม กทม.ไม่ให้เอกชนสร้างศาลารอรถเมล์แทน เนื่องจากเอกชนไม่ได้ทำให้ฟรี ต้องแลกกับการติดตั้งป้ายโฆษณากว่า 1,170 ป้าย ระยะเวลา 10 ปี ซึ่งแต่เดิม กทม.เคยให้เอกชนรับผิดชอบประมาณ 691 ศาลา แบ่งเป็น ปรับปรุง 350 ศาลา ดูแลทำความสะอาด 341 ศาลา แต่ในอนาคต กทม.ต้องการลดป้ายโฆษณาลง เพราะบางส่วนกีดขวางทางเท้า