กรุงเทพมหานคร (กทม.) เชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรมนาแปลงนี้ไม่เผา ลดฝุ่น PM2.5 เนื่องจาก ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ฝุ่นจากการจราจร อากาศปิดที่ทำให้ฝุ่นสะสม และการเผาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากมาตรการรณรงค์ลดการเผาตอซังและฟางข้าวอย่างต่อเนื่องของ กทม. ทำให้อัตราการเผาลดลงถึง 9 เท่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมีเป้าหมายลดการเผาให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2568 เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นในระยะยาว
ผลการดำเนินการรณรงค์ไม่เผาตอซังและฟางข้าวของ กทม. พบว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่ทำนารวมทั้งสิ้นประมาณ 80,000 ไร่ เกษตรกรทำนา 4,000 ครัวเรือน กระจายอยู่ในเขตหนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง มีนบุรี สายไหม บางเขน สะพานสูง ประเวศ หนองแขม และทวีวัฒนา ซึ่งปี 2565 มีพื้นที่เผา 5,625 ไร่ (พบจุด Hot Spot จำนวน 9 จุด ในเขตหนองจอก คลองสามวา และลาดกระบัง) จากข้อมูลนี้จึงได้รณรงค์ส่งเสริมไม่ให้เผาอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 มีพื้นที่เผา 1,582 ไร่ (พบจุด Hot Spot จำนวน 18 จุด ในเขตหนองจอก ลาดกระบัง และบางเขน) และรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรไม่เผาตอซังข้าว อย่างต่อเนื่อง พบว่า ปี 2567 มีพื้นที่เผา 625 ไร่ (พบจุด Hot spot จำนวน 1 จุด ที่เขตหนองจอก)
มาตรการของกรุงเทพมหานครที่ทำให้พื้นที่เผาลดลง และมีเป้าหมายลดการเผาเป็น 0 ภายในปี 2569
1. ส่งเสริม จัดหา สนับสนุนการใช้รถอัดฟาง ให้แก่เกษตรกร เพื่อลดการเผาตอซังและฟางข้าวเพราะฟางก้อนที่อัดได้สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ หรือนำฟางไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ฯลฯ
2. ส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว โดยได้รับการสนับสนุนหัวเชื้อจุลินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน (ฟรี)
3. การเฝ้าระวัง (Monitor) ติดตามจุดความร้อน (Hot Spot) ด้วยระบบ NASA Fire Information for Resource Management System ในพื้นที่เกษตรร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม แบบ Real time หากพบว่ามีจุด Hot spot สำนักพัฒนาสังคมจะแจ้งสำนักงานเขตติดตามระงับเหตุทันทีและรายงานผล
4. การลงพื้นที่ให้ความรู้ อบรมการทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักจุลินทรีย์ การใช้ประโยชน์จากฟางข้าว การเพาะเห็ดฟาง ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
การส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือไม่เผาฟางข้าว กรุงเทพมหานครจะออกใบรับรอง “มาตรฐานสินค้าเกษตรกรุงเทพมหานคร (Bangkok G)” และ “นาแปลงนี้ไม่เผา” เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนชาวนาผู้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการไม่เผาฟางข้าวและมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน เกษตรกรได้รับการสนับสนุนช่องทางการตลาด นำผลผลิตไปขายที่ตลาด Farmer market ที่สำนักพัฒนาสังคม ดำเนินการ 7 แห่ง และที่สำนักงานเขต 50 เขต
ติดต่อสอบถาม ส่วนส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักงานการส่งเสริมอาชีพสำนักพัฒนาสังคม โทร.0 2247 9499