“พริษฐ์”แย้มจัด 30 ขุนพล ลุยชำแหละแก้รธน. ไม่หวั่นญัตติยื่นศาลตีความ ยันไม่ขัดคำวินิจ ลั่นแม้ถูกตีตกก็จะผลักดันให้สำเร็จ ด้าน“นิกร” ฟันธง! ร่างรธน.ฉบับ“พท.-ปชน.” ผ่านยาก เหตุเสี่ยงขัดคำวินิจฉัยศาล คาดอาจมีคนยื่นร้องหากมีการโหวตลงคะแนน ย้ำ“ชทพ.” ไม่โหวตรับร่าง ปชน.แน่ ส่วน “แพทองธาร”ลั่นเป็น“นายกฯ”พร้อมตอบทุกเรื่อง “ศึกซักฟอก” พร้อมสยบปรับครม.ยันถ้ายังไม่เซ็นก็ไม่ใช่โผ


เมื่อวันที่ 11 ก.พ.68 เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ว่า มีความสำคัญ 2 ด้านคือ เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเข้าใกล้สู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากที่สุด นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในปี 2564 ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการของประธานสภาฯ ไม่เคยบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมมาก่อน และอีกหนึ่งความสำคัญคือหากรัฐสภาไม่มีมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งในครั้งหน้า

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า วาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่เป็นแค่ข้อเรียกร้องของพระแกนนำฝ่ายค้าน หรือเป็นนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา ฉะนั้น ตนจึงคิดว่าบุคคลที่ควรมีส่วนสำคัญในการที่จะพยายามช่วยผลักดันให้วาระดังกล่าวสำเร็จคือนายกรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีกลับไม่เคยสื่อสารเรื่องนี้ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาประกบมีเพียงของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น ในอีก 2-3 วันนี้อยากเห็นบทบาทของนายกรัฐมนตรีเข้ามาผลักดันวาระดังกล่าวให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นการประชุมครม. ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็หวังว่าจะมีสัญญาณอะไรออกมา ส่วนที่มีสว. บางคนออกมาให้สัมภาษณ์เหมือนกับรัฐสภาไม่สามารถที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ซึ่งหากไปเปิดดูคำวินิจฉัยเมื่อปี 2564 จะเห็นย่อหน้าสุดท้ายระบุว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ หรือบางคนอาจจะบอกว่าแม้รัฐสภาจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็ต้องทำประชามติ ก่อนที่จะมีการพิจารณาในวาระที่ 1 ตนต้องบอกว่าแม้รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบแต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่ต้องมีการทำประชามติก่อนหลังวาระ 3 ตามมาตรา 256 (8) และหลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็จะต้องมีการทำประชามติอีกรอบ

เมื่อถามว่า พรรคปชน.เตรียมความพร้อมในการอภิปรายอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราพยายามเต็มที่ในการที่จะสื่อสารกับสังคมและสมาชิกรัฐสภาเพื่อคลายทุกข้อสงสัย โดยเราจัดทัพคนที่จะอภิปรายไว้ประมาณ 30 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 โจทย์คือ โจทย์ที่หนึ่งจะอธิบายให้เห็นชัดว่าทำไมควรต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือทำไมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงมีปัญหา โจทย์ที่สองคือ เราเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร และโจทย์ที่สามคือ จะอภิปรายให้คลายข้อสงสัยและข้อกังวลระหว่างการอภิปราย
“แม้เราจะคาดการณ์การลงมติล่วงหน้าไม่ได้ แต่เมื่อเทียบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเมื่อปี 2563 และที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการไปแล้ว และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ เราจะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกัน ไม่ได้มีการเสนอเนื้อหาอะไรที่เกินเลยไปกว่าที่เคยเสนอเมื่อปี 2563 เลย อย่างไรก็ตาม เรายินดีรับฟังทุกข้อทักท้วงและชี้แจงทุกข้อสงสัย” นายพริษฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หากวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ดังกล่าวไม่ผ่านหรือมีการเสนอญัตติส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พรรค ปชน.จะทำอย่างไรต่อ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องรอดูวันนั้น หากมีการเสนอยติให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อน ตนก็จะอภิปรายว่าไม่เห็นด้วย และขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกอย่าง รวมถึงเราต้องถามกลับไปว่าคนที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นคาดหวังที่จะได้รับผลอะไร อย่างไรก็ตาม แม้จะลงมติแล้วไม่ผ่าน พรรค ปชน.คงจะต้องมีการหาแนวทางต่อไปในการผลักดันที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่คำถามนี้ก็ควรที่จะทำรัฐบาลด้วย เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน

เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่เพราะวันดังกล่าวก็จะมีมวลชนมาปักหลักรอติดตามการพิจารณาในสภาด้วย นายพริษฐ์ กล่าวว่า การที่ประชาชนมาแสดงออกหรือชุมนุมอย่างสันตินั้น เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยอยู่แล้ว แน่นอนว่าอาจจะมีประชาชนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรากำลังจะจัดทำ แต่เราก็ยินดีรับฟังทุกเสียง และขอให้สมาชิกรัฐสภารับฟังทุกเสียงด้วย ถือเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนที่ให้ความสำคัญกับวาระที่พิจารณาในสภา อาจจะมาแสดงออกและดูว่ารัฐสภาคิดเห็นอย่างไร
ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรธน.ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยในวันที่ 13-14 ก.พ.ว่า  คาดว่าก่อนการลงสู่การพิจารณาในเนื้อหาของแต่ละร่างของทั้ง 2 ร่าง คงจะมีการถกเถียงกันว่า รัฐสภาสามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ เพราะบางฝ่ายเห็นว่าจะต้องไปทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยของศาล รธน.เสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากรัฐสภาพิจารณาโดยที่ยังไม่มีการทำประชามติเสียก่อน จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
“ผมเชื่อว่าจะมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างแน่นอนในที่ประชุมรัฐสภา แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาก็ตาม แต่เนื่องจากทั้ง 2 ร่างนี้เป็นร่างของพรรคการเมือง ไม่ได้เป็นร่างของ ครม. ทุกพรรคการเมืองจึงควรมีอิสระในการตัดสินใจบนพื้นฐานความเห็นของแต่ละพรรคได้”นายจุรินทร์ กล่าว

ด้าน นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวันที่ 13-14 ก.พ.ว่า โอกาสที่จะผ่านน่าจะยาก เพราะยังมีปัญหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับจำนวนครั้งในการออกเสียงประชามติ ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันจนมีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการเพิ่มมาตรา 256 เพิ่มหมวด 15/1 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฉะนั้นจะต้องประชามติสอบถามประชาชนก่อน ซึ่งเมื่อปี 2564 ที่ประชุมรัฐสภาที่เคยพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256/1 ต้องชะลอไป แต่ครั้งนี้ก็ยังมีปัญหาการพิจารณาว่า รัฐสภาสามารถพิจารณาได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงมติของสมาชิกรัฐสภา หากสมาชิกรัฐสภาลงมติก็อาจถือว่าเข้าข่ายมีความผิดทันที เพราะกระทำการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และตนเองก็มั่นใจว่า ในประเด็นนี้ จะต้องมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน

นายนิกร ยังกล่าวถึงกรณีที่อาจจะมีผู้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก โดยเห็นว่า มีความเป็นไปได้เพราะทราบว่าที่จะมีการเสนอ แต่ใครจะผู้เสนอ เพราะวุฒิสภา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยื่น เพราะหากไม่ลงคะแนนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่า จบปัญหา หรือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยื่น เพราะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง ดังนั้นตนจึงยังเชื่อว่า จะมีผู้ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่ทราบว่า ใครจะเป็นผู้ยื่น แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีประเด็น หากพิจารณาเสร็จแล้วสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติไปแล้วก็สุ่มเสี่ยงที่ผิดจริยธรรมได้

นายนิกร ยังกล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคประชาชนว่า พรรคชาติไทยพัฒนา จะไม่ลงมติให้ เนื่องจาก มีการแก้นัยยะสำคัญในมาตรา 256 (8) ที่ไปเปิดช่องให้สามารถแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ได้ ซึ่งขัดกับหลักการของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ที่พรรคชาติไทยพัฒนา จะไม่ลงมติให้แน่นอน และหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาชนเสนอในร่างแก้ไข ในวาระแรกที่ให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องอาศัยเสียงวุฒิสภา 1 ใน 3 ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายแม่ ต้องไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย แต่จะถึงขั้นแก้ไขไม่ได้เหมือนปัจจุบันคงไม่ได้ รวมถึงยังมีปัญหาทางการเมืองเกี่ยวกับที่มาของ ส.ส.ร.200 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าจะมีการเมืองเข้ามาควบคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตนจึงมั่นใจว่า การแก้ไขครั้งธรรมนูญครั้งนี้ยากถึงยากมาก

เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องจัดการออกเสียงประชามตินั้น นายนิกร กล่าวว่า ว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็ยังรอการพิจารณา ซึ่งคาดว่า อย่างน้อยคือในช่วงก.ค.นี้ ถ้าระหว่างมีการพิจารณารัฐธรรมนูญจะต้องก็จะต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority ซึ่งมีกลไกทางเทคนิคเยอะแยะ ความเห็นของตนคือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงเข้ามาเพื่อที่จะลองว่าเผื่อจะทำได้ ตนก็อยากถามว่าถ้าเผื่อทำไม่ได้บ้าง เพราะถ้าสมมติผ่านเท่ากับว่าประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ วุฒิสภาเขาจะสนับสนุน หากไม่สนับสนุนเขาจะตอบประชาชนลำบาก เพราะไม่ใช่เชิงกฎหมายแต่เป็นเชิงการเมือง เพราะถ้าผ่านเท่ากับว่าประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วุฒิสภาก็ต้องสนับสนุน แต่ตรงนี้ไม่มี เขาไม่ผูกพันเลย จึงเป็นเรื่องยากที่จะผ่าน ดังนั้นตนก็จะรอดูการประชุมว่าจะจบลงอย่างไร  

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13 ก.พ. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ระบุอาจให้มีการอภิปรายแล้วให้ยื่นคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องทำประชามติ พรรคเพื่อไทยมีความเห็นอย่างไร ว่า เดี๋ยวขอคุยเรื่องนี้กันอีกที

เมื่อถามกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจได้กำชับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไรหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เดี๋ยวต้องมีการคุยกัน ตนเพิ่งคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ที่ประเทศจีน เรื่องหัวข้อต่างๆว่าหัวข้อไหนจะมีคำตอบอย่างไรบ้าง เดี๋ยวคงคุยกันอีกครั้ง เพราะเพิ่งกลับมาและได้ทำงานและเจอทุกท่านวันนี้ ภายในสัปดาห์นี้ต้องเคลียร์เรื่องเหล่านี้เพื่อตอบฝ่ายค้านให้ประชาชนเข้าใจ

เมื่อถามอีกว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีการแตะไปที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเยอะ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “โอ้ย ดิฉันพร้อมตอบทุกเรื่อง เป็นนายกฯต้องพร้อมตอบทุกเรื่อง” เมื่อถามถึงกรณีมีกระแสข่าวการปรับ ครม.ที่มีโผรายชื่อ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะไปเป็น รมช.คลัง ทาง น.ส.แพทองธาร หันไปหา นางนฤมล ที่ยืนอยู่ด้านหลัง พร้อมหัวเราะ ซึ่งนางนฤมล ก็ยิ้มและหันไปมองหน้านายกฯ ที่ถามสื่อกลับว่า ”มีโผออกมาว่ายังไง โผเป็นทางการดิฉันเซ็นหรือเปล่า ถ้ายังไม่เซ็นก็ไม่ใช่โผ”

น.ส.แพทองธาร ยัง ให้สัมภาษณ์กรณีการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พูดคุยเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์อย่างไร เพราะเหมือนกฎหมายของจีนห้ามเล่นการพนัน ว่า นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตนก็เล่าข้อมูลให้ฟังว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ใช่เฉพาะกาสิโน แต่เป็นที่ท่องเที่ยว เราวางไว้ว่าเป็นกาสิโนไม่ถึง 10% ของพื้นที่ เราตั้งใจให้เป็นที่ของครอบครัว ให้เด็กๆ ไปได้หมด ทั้งนี้ กาสิโนเป็นส่วนเล็กๆ ในนั้นเท่าน