วันที่ 11 ก.พ.68 ที่ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นางสาวอรวรรณ มีใหม่ นายอำเภอเมือง จ.นครราชสีมา จัดการประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 1/2568 โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชนในพื้นที่ 24 ตำบล ของ อ.เมือง รับฟังนายอำนาจ วรรณมาโส หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ชี้แจงสถานการณ์น้ำดิบในเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 73.69 ล้าน ลบ.เมตร หรือ 23 % ของพื้นที่เก็บกัก 314 ล้าน ลบ.เมตร ซึ่งมีน้ำไหลลงเขื่อนน้อยที่สุดในรอบ 57 ปี นับตั้งแต่เปิดใช้งานในปี 2512 เกิดจากปริมาณฝนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ผืนป่ามรดกโลกแห่งที่ 5 ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยต่อปีทำให้มีน้ำไหลลงเขื่อนเพียง 80 ล้าน ลบ.เมตร จึงมีน้ำต้นทุนน้อยที่สุดในรอบ 20 ปี การบริหารจัดการได้ระบายน้ำวันละ 2 แสน ลบ.เมตร ให้พี่น้อง ประชาชนร่วม 1 ล้านคน ในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีน้ำอุปโภค บริโภคอย่างพอเพียง แม้นประชาสัมพันธ์งดทำนาปรัง ยังมีพื้นที่กว่า 1.5 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน ทำนาปรังและส่วนหนึ่งเตรียมแปลงโดยไม่สนใจคำร้องขอแต่อย่างใด รวมทั้งตรวจพบการลักลอบนำวัสดุอุปกรณ์มาวางขวางเส้นทางน้ำธรรมชาติ เจ้าหน้าที่โครงการต้องลงพื้นที่จัดการแก้ปัญหานี้บ่อยครั้ง

ในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องพิจารณา โดยให้กำนันหรือตัวแทน 24 ตำบล รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง โดยประปาท้องถิ่นที่ใช้น้ำดิบในลำบริบูรณ์ สาขาลำตะคองตอนล่างเป็นแหล่งน้ำผลิตประปา ต้องเร่งสูบน้ำเข้าแหล่งเก็บกักแต่มีน้ำไม่พอเพียง จึงจัดรอบเวรตามความเหมาะสม พบประปาท้องถิ่นหลายแห่งไม่มีบ่อหรือสระน้ำหากมีก็ขนาดเล็กเก็บกักได้ไม่ถึง 10-15 วัน น้ำก็หมด นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้สูบน้ำทำให้ต้นทุนน้ำประปาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ คนชายขอบเมืองโคราชวิกฤตขาดน้ำกินน้ำใช้แน่นอน