เมื่อเวลา 12.15 น.วันที่ 11 ก.พ. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์​ นิล​ประพันธ์​ เลขาธิการ​คณะกรรมการ​กฤษฎีกา​ เปิดเผยถึงความคืบหน้า​ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ... หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์​ ตามกรอบเวลา​ 50 วัน ว่า​ น่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือนมี.ค.ซึ่งเราพยายามทำให้เร็ว โดยในการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะอยู่ในกรอบ 50 วัน ที่กำหนดไว้ 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้เหลือขั้นตอนอะไรบ้าง นายปกรณ์​ กล่าวว่า ตอนนี้เราปรับร่างฯแล้ว​ ซึ่งเรียกว่าวาระที่ 2 โดยมีการปรับในรายละเอียด แต่รอบแรกพิจารณาในหลักการไปแล้ว ซึ่งตอนนี้มีการปรับร่างฯไปเยอะแล้ว และได้นำเข้าคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษไปแล้ว โดยตอนนี้เห็นหน้าตาเป็นกรอบค่อนข้างชัดเจนแล้ว เมื่อถามว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว​ มีการปรับเปลี่ยนจากร่างเดิมมาก หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ก็เยอะอยู่ เมื่อถามอีกว่า มีการปรับในสาระสำคัญหรือไม่ นายปกรณ์​ กล่าสว่า​ สาระสำคัญยังคงเหมือนเดิม คล้ายๆ เดิม

 

เมื่อถามว่า ในร่างฯที่ปรับใหม่ ได้มีการระบุชัดเจนว่ากาสิโนจะต้องมีกี่เปอร์เซ็นต์ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าสว่า​ ในเบื้องต้นคิดว่าควรจะมีการกำหนดไว้​ แต่ตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่คิดว่าควรต้องกำหนด เมื่อถามว่า จะต้องนำต่างประเทศมาเปรียบเทียบหรือไม่​ เช่น ในประเทศสิงคโปร์ นายปกรณ์ กล่าวว่า แล้วแต่นโยบาย เนื่องจากไม่เหมือนกัน ต้องอยู่ที่นโยบายว่าจะเอาเท่าไหร่ เมื่อถามต่อว่า สัดส่วนกาสิโนอยู่ระหว่างเท่าใด​ นายปกรณ์​ กล่าวว่า​ ก็ต้องไม่เกิน 10%  เมื่อถามย้ำว่า เป็นการเปิดช่องไว้ ให้สามารถลดสัดส่วน เป็น 5 หรือ 8% ได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ถูกครับ มันจะเป็นฟิลลิ่ง ถ้าจะน้อยกว่า 10 ก็แล้วแต่สถานการณ์ ที่เขาจะพิจารณา

 

เมื่อถามว่า จะใช้เกณฑ์อะไรในการปรับ ว่าสัดส่วนจะเป็นเท่าใด นายปกรณ์ กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการนโยบายที่จะพิจารณา ตนคิดว่าเขาคงจะต้องพิจารณาในแง่ของการลงทุนด้วย เพราะว่ามีการระบุไว้แล้วว่า การลงทุนต้อง 1 แสนล้านบาท​ และค่าใบอนุญาต อีก 5 พันล้านบาท ซึ่งต้องแล้วแต่คณะกรรมการนโยบายต้องดูแผนที่นักลงทุนเสนอเข้ามา

 

ผู้สื่ข่าวถามว่า ก่อนที่จะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. จะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ นายปกรณ์​ กล่าวว่า​ ปกติเราทำเสร็จแล้ว​ เราก็เปิดเผยอยู่แล้ว ไม่ได้ปกปิดอะไร ซึ่งปกติกฤษฎีกาจะนำไปลงเว็บไซต์ระบบ กฎหมายกลางอยู่แล้ว 

 

เมื่อถามว่า ถ้าประชาชนจะมีความคิดเห็นในเรื่องนี้จะสื่อไปถึงกฤษฎีกาเพื่อทบทวนร่างกฎหมายได้อย่างไร นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เราทำตามนโยบายของรัฐบาล ตนเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงต้องแล้วแต่นโยบายรัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้นเท่ากับฝ่ายข้าราชการประจำทำตัวเป็นฝ่ายบริหารเสียเอง ซึ่งมันจะผิดหลัก ส่วนที่พยายามเรียกร้องกันนั้นตนเข้าใจดี​ถึงความสนใจในเรื่องนี้ของทุกภาคส่วน รวมถึงความห่วงใย แต่ต้องเข้าใจเรื่องระบบในการทำงานด้วยว่าฝ่ายข้าราชการประจำจะไปทำตัวเป็นฝ่ายบริหารเสียเองมันไม่ถูกเรื่อง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องนโยบายก็อยู่ที่ทางรัฐบาลจะพิจารณา ไม่ใช่มากดดันที่กฤษฎีกา ว่าจะอย่างนั้นอย่างนี้ ตนไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรขนาดนั้น​

 

เมื่อถามว่า ถ้าจะทำประชามติ ต้องให้รัฐบาลเป็นฝ่ายดำเนินการใช่หรือไม่ นายปกรณ์​ กล่าวว่า ใช่ครับ​ มันอยู่ที่รัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่ตนเลย และที่ผ่านมาก็ยืนยันมาโดยตลอดในการตรวจพิจารณาทุกร่างกฎหมาย 

 

เมื่อถามถึง ข้อกังวลของนักวิชาการเนื่องจากร่างกฎหมาย มีการระบุว่าสำนักงานสามารถหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้ก่อนเหลือเท่าใดจึงค่อยนำส่งเป็นเงินแผ่นดิน นายปกรณ์​ กล่าวว่า ด้วยหลักของกฎหมาย​วินัยการเงินการคลัง ภาษีต้องเข้ารัฐ 

 

ต่อข้อถามว่า หมายความว่า สำนักงานเองสามารถหักค่าใช้จ่าย เหลือเท่าไหร่ค่อยนำส่งเป็นเงินแผ่นดินใช่หรือไม่ นายปกรณ์​ กล่าวว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียม และค่าบริการ ซึ่งเรื่องค่าธรรมเนียมหรือใบอนุญาตต่างๆ โดยหลักแล้วมันต้องเข้าหลวง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการเงินการคลัง ส่วนมากจะหักไม่ได้เท่าไหร่ เอามาเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ตรงนี้เป็นแนวปฏิบัติทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ต้องเป็นความตกลงของกระทรวงการคลัง

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรอบระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายจะครบ 50 วัน ประมาณวันที่ 6 มี.ค. 68