วันที่ 11 ก.พ.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายศรชัย โตวานิชกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีผู้ค้าขอให้สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) ชี้แจงการจัดเก็บค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักรโครงการ 30 ที่ไม่นำเงินเข้าระบบและให้เช่าพื้นที่ทับซ้อน เอื้อประโยชน์เอกชน ว่า จากการตรวจสอบ พบเอกสารของผู้ร้องเรียนดังกล่าว เป็นเอกสารภายในที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชี แต่เป็นสรุปงบการเงินสำหรับส่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อขอลดค่าเช่า โดยในการปฏิบัติงานจริง เมื่องานการคลัง ตลาดนัดจตุจักรได้รับชำระเงินค่าเช่าแผงค้าแล้วจะออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ค้า บันทึกบัญชีเป็นรายการค่าเช่าแผงค้าโครงการ 30 และรวบรวมเงินที่ได้รับชำระในแต่ละวันเข้าบัญชีธนาคารชื่อสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร พร้อมจัดทำข้อมูลรายได้ประจำวันเข้าระบบส่งให้ฝ่ายการคลัง สงต. รวบรวมของทุกตลาดในสังกัด กทม. จัดทำเป็นงบการเงินในภาพรวม ในหัวข้อรายได้จากแผงค้า ซึ่งแจกแจงเป็นแต่ละโครงการ ส่วนบริเวณลานเร่หอนาฬิกาจะบันทึกบัญชีรวมอยู่ในหัวข้อรายได้จากพื้นที่ว่าง

ปัจจุบันมีผู้ค้าที่ค้างชำระค่าเช่าและปล่อยเช่าช่วง หรือไม่ทำสัญญาเช่าประมาณ 1,700 ราย แต่ยังเปิดขายสินค้า ทำให้ตลาดนัดจตุจักรขาดรายได้ในส่วนนี้ สงต.จึงฟ้องร้องต่อศาลและบอกเลิกการให้สิทธิเช่าแผงค้า  

ส่วนกรณีตลาดนัดจตุจักรให้เช่าพื้นที่ทับซ้อนนั้น ตลาดนัดจตุจักรประกวดราคาให้สิทธิเอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดกลางคืนบนถนนภายในตลาดนัดจตุจักร ค่ำวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ จึงไม่ทับซ้อน หรือใกล้กับพื้นที่โครงการ 30 ซึ่งขายเฉพาะกลางวันของวันเสาร์และอาทิตย์ และโครงการ 31 ซึ่งขายเฉพาะต้นไม้ในเวลากลางวันของวันอังคารถึงวันพฤหัสบดี ส่วนการลดค่าเช่าให้กับเอกชน เนื่องจากเอกชนจัดให้มีจำนวนแผงค้าเท่ากับจำนวนที่ตลาดนัดจตุจักรกำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TOR) สำหรับการคิดราคาเริ่มต้นประกวดราคาไม่ได้ เนื่องจากติดอุปสรรคในการดำเนินการ จึงได้ปรับลดค่าเช่าตามสัญญา นอกจากแผงค้าปกติแล้ว ในตลาดนัดจตุจักรยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่ให้เช่าอีกหลายบริเวณ ซึ่งแต่ละจุดจะกำหนดราคาค่าเช่าต่อตารางเมตรไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การประกอบกิจการ ทำเลที่ตั้ง การลงทุน ขนาดพื้นที่ และความเหมาะสมมาประกอบ การพิจารณา สำหรับจุดที่เอกชนบริหารตลาดนัดกลางคืนมาเช่าพื้นที่ ได้ประมูลให้เช่าพื้นที่ แต่ยังไม่มีผู้สนใจปล่อยทิ้งว่างมานานหลายปี ซึ่งการให้เช่ากรณีนี้ทำให้ตลาดนัดจตุจักรมีรายได้เพิ่มขึ้น

ด้านนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวคาดว่าจะมีการแถลงรายละเอียดทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลและนัดหมายผู้ที่เกี่ยวข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก เมื่อวันที่ 31 ม.ค.68 เพจเฟซบุ๊ก ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย โพสต์ระบุว่า ส่อ.งาบค่าเช่าแผง ตลาดนัดจตุจักร-กทม. เครือข่าย ฯ รายงานว่า พบความผิดปกติในเก็บเงินค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักร (แผงเขียว) ส่อไม่เข้าในระบบรายรับประจำปีของ สนง.ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งถือเป็นรายได้ของ กทม. ปกติแล้วแผงเขียว หรือในรายการเรียกว่า โครงการแผงค้า 30 มีราวๆ 529 แผง ต้องจ่ายค่าเช่าแผงให้ กทม.เป็นรายเดือน เดือนละ 1,400 บาทต่อแผง รวมๆคร่าวๆต่อปีประมาณ 8.8 ล้านบาท แต่พบความผิดปกติไม่มีการนำเงินส่วนนี้เข้าไปรายงานในระบบแต่กลับมีการออกใบเสร็จให้ผู้เช่าจ่ายทุกเดือน สืบเสาะข้อมูลลงไปพบว่า จากเอกสารตั้งแต่ปี 2562 - 2566 ไม่มีการรายงานรายรับส่วนนี้ในระบบ แต่กลับมีการเรียกเก็บค่าเช่าแผงทุกเดือน รวมๆแล้วเป็นเงินกว่า 40 ล้านบาท... นี้แค่เฉพาะแผงเขียว นะ..ยังมีรายการอื่นๆอีก โปรดติดตาม!!

จากนั้นวันที่ 3 ก.พ.68 นายมนูญ โอภาสะนันท์ ประธานชมรมพี่น้องจิตอาสา ตลาดนัดจตุจักร ได้ยื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีถูกกองอำนวยการตลาดนัดจตุจักร สำนักงานตลาด กทม. บอกยกเลิกสิทธิ์สัญญาเช่าโครงการ เนื่องจากมีแผนพัฒนาพื้นที่ และขอให้ตรวจสอบรายรับรายจ่ายของโครงการ 30 และ 31 ซึ่งไม่มีลงในรายการรายรับของสำนักงานตลาด กทม. รวมถึงได้ร้องต่อศาลปกครองขอให้กองอำนวยการตลาดนัดจตุจักรแสดงบัญชีรายรับและรายจ่าย โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับพิจารณา นอกจากนี้ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และเตรียมทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อตรวจสอบการบริหารงานตลาดนัดจตุจักรที่ส่อในการทุจริตทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ก.พ.68 เพจเฟซบุ๊ก สงต. กทม. (สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร) โพสต์ระบุว่า สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ขอแจ้งให้ทราบว่า ในกรณีที่มีการกล่าวหา สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร รองฯศรชัย และผอ.สุธน ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยมิใช่การท้วงติง เสนอแนะเชิงสร้างสรรค์ ในหลายประเด็นนั้น ทางสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร และทั้งสองท่าน จะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป