จากกรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ไม่วันอังคารที่ 11 ก.พ. ก็วันพุธที่ 12 ก.พ. นี้ (ตามเวลาสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่า ประเทศไทย อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายการเรียกเก็บภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการที่ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับสอง ตามรายงานของเว็บไซต์มาร์เก็ตวอตช์ (Marketwatch)

ล่าสุด "นายปีเตอร์ นาวาร์โร" ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ได้จัดกลุ่มประเทศเป้าหมายออกเป็น 3 ระดับ โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน "โซนเหลือง" หรือกลุ่มเสี่ยงระดับสอง ร่วมกับประเทศไต้หวัน และประเทศเวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้มี "ความแตกต่างของภาษีศุลกากรสูงเป็นพิเศษ" เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหภาพยุโรป ซึ่งมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงมาก ก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน

ส่วนประเทศที่ถูกจัดอยู่ในโซนแดง หรือกลุ่มเสี่ยงสูงสุด คือ ประเทศจีน และประเทศอินเดีย ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น และประเทศมาเลเซีย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับสาม

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยย้ำจุดยืนในวิดีโอหาเสียงเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ว่า "ถ้าอินเดีย จีน หรือประเทศไหนเก็บภาษี 100% หรือ 200% กับสินค้าอเมริกัน เราก็จะเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน พูดง่าย ๆ คือ 100% ก็ต้อง 100% ถ้าเขาเก็บภาษีเรา เราก็เก็บภาษีเขา ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ภาษีต่อภาษี ในจำนวนเดียวกันเป๊ะ"

ขณะที่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ให้มุมมองว่า การกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมชัยชนะที่เด็ดขาดในการเลือกตั้งสหรัฐฯ และการที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ส่งสัญญาณถึงการกลับมาของนโยบายการค้าเข้มงวด โดยภาษีศุลกากรตอบโต้เป็นมาตรการที่ให้อำนาจประธานาธิบดีในการปรับอัตราภาษีนำเข้าให้เท่ากับอัตราที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าอเมริกัน

สำหรับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเป็นการออกกฎหมายใหม่ ซึ่งอาจมีความรวดเร็วเนื่องจากพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา