วันที่ 10 ก.พ. 2568 ที่รัฐสภา กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ นำโดย นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงประชุมร่วมกันของรัฐสภา วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ว่า เป็นครั้งแรกที่ประธานรัฐสภาได้บรรจุลงระเบียบวาระ ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่ถูกต้อง และเป็นที่สนใจของสังคมทั่วไป
โดยนส.นันทนา กล่าวว่า เราเห็นด้วยกับการทำประชามติ 2 ครั้ง คือครั้งแรก ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยให้ประชาชนลงมติว่าเหตุด้วยกับวิธีการที่จะได้มาซึ่งสมาขิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือไม่ และเมื่อ สสร.ร่างเสร็จเรียบร้อย จึงจัดประชามติครั้งที่ 2 เพื่อถามประชาชนว่ารับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ย้ำว่า การทำประชามติ 2 ครั้ง จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาจากประชาชน และไม่สิ้นเปลืองประมาณจนเกินไป
"เห็นด้วยกับกับการลดอำนาจของ สว.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาจากการเลือกกันเอง แตกต่างจาก สส. ที่มาจากการเลือกการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น จึงควรให้น้ำหนักหลักอยู่ที่ สส."น.ส.นันทนา กล่าว
น.ส.นันทนา กล่าว กล่าวถึงกรณีที่ สว.ตกเป็นจำเลยของสังคม เพราะการที่แก้รัฐธรรมนูญได้นั้น ต้องใช้เสียง สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และหาก สว.ไม่ยอมโหวตให้ การแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งสังคมก็จะไม่ต่างอะไรจาก สว. 250 คน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติตั้งขึ้นมา แล้ว สว.ชุดนี้ จะอำนาจไว้กับตัวเองเพื่ออะไร เราจึงอยากเชิญชวน สว. ที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย มาร่วมโหวต เพื่อผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วยกัน ให้เราได้กติกาตามประชาธิปไตย ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ยังเรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเองก็เคยพูดว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกของ คสช. รวมถึงประชาชนทุกท่านที่รู้สึกได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และไม่พอใจการทำงานขององค์กรอิสระ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน
เมื่อถามว่าข้อเสนอให้มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความตามมาตรา 210 น.ส.นันทนา กล่าว ยืนยันว่า การบรรจุลงระเบียบวาระ เป็นการปฏิบัติตามกระบวนการนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ และไม่มีอะไรที่ทำให้การกระทำตรงนี้ไม่ถูกต้อง เพราะหากเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ประธานรัฐสภาคงไม่บรรจุลงระเบียบวาระ