วันที่ 10 ก.พ.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาเขต (คพพ.) ว่า ที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่เฉพาะชุมชน ไม่ได้ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกันในนามของเมือง การก่อตั้ง คพพ. จึงมีเป้าหมายสร้างพลังในการขับเคลื่อนเมืองจากความร่วมมือของคนในชุมชน แนวทางนี้สื่อสารไปยังรัฐบาลได้เห็นว่า การขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ จะยั่งยืนได้จากความร่วมมือของภาคประชาชน เนื่องจากเป็นเจ้าของเมือง รู้ปัญหาในพื้นที่มากที่สุด ส่วนข้าราชการ ผู้บริหาร รับตำแหน่งตามวาระแล้วก็ไป หากสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายและแก้ปัญหาต่าง ๆ จะสร้างความยั่งยืนได้
สำหรับการทำงานของ คพพ. ได้กำหนดเป้าหมายหลัก 5 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณูปโภค และด้านความสะอาด ให้ทั้ง 50 เขตแสวงหาคนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในแต่ละด้าน โดยการตั้งคณะทำงานเรื่องต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งแต่ละพื้นที่มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงความรู้เฉพาะทางแต่ละสาขาอาชีพอยู่แล้ว เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา ข้าราชการ ผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐและเอกชน สามารถเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอปัญหาและร่วมกันแก้ไขในแต่ละเรื่อง ปัจจุบันมีคณะทำงานในพื้นที่ทั้ง 50 เขต กว่า 900 คน ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานแต่ละด้านมีวาระ 2 ปี หากมีพฤติกรรมเสื่อมเสีย ที่ประชุมสามารถมีมติให้พ้นจากตำแหน่งได้โดยใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 จากจำนวนองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ คพพ.
นายต่อศักดิ์ กล่าวว่า การมาของ คพพ. ทำให้ปัญหาถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาจำนวนมาก ซึ่งคนในพื้นที่เป็นผู้นำเสนอปัญหาเองโดยตรง อุปสรรคที่พบคือความไม่เข้าใจกันระหว่างเขตและ คพพ. เนื่องจากสำนักงานเขตมีหน่วยงานด้านต่าง ๆ อยู่แล้ว การมาของ คพพ. จึงถูกมองว่าเพิ่มภาระให้กับเขต ซึ่งสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร (สพท.) จะเป็นผู้ประสานงานเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมา 1 ปี พบว่ามีการทำงานร่วมกันอย่างลงตัวมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องใหม่ จึงมีปัญหาอุปสรรคบ้าง สิ่งสำคัญคือการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ลงรายละเอียดแต่ละเรื่องให้มากขึ้น
โดยบทบาทหน้าที่ของ คพพ. ที่ผ่านมา ยกตัวอย่าง การเป็นตัวแทนประชาชนร่วมประชุมด้านผลกระทบจากการปิดสะพานข้ามแยกราชเทวี เพื่อต่อรองและรับทราบถึงแผนการดำเนินงานของภาครัฐทั้งหมดและนำแนวทางแก้ไขด้านการจราจรมาชี้แจงแก่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบ เช่น การใช้พื้นที่ซอยต่าง ๆ ทดแทนระหว่างปิดใช้สะพาน หรือการก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมในเขตบางกะปิ เปิดโอกาสให้ประชาชน หรือชุมชนในพื้นที่รับงานจาก กทม.ได้โดยตรงเพื่อสร้างรายได้
สำหรับการดำเนินงานต่อจากนี้ มีแผนจัดตั้ง คพพ.ส่วนกลาง เพื่อประสานงานระหว่าง 6 กลุ่มเขต (เหนือ กลาง ตะวันออก ใต้ กรุงธนเหนือ กรุงธนใต้) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากหลายเขตมีแนวคิด ปัญหา ตลอดจนการดำเนินงานที่คล้ายกัน สามารถแลกเปลี่ยนแนวทางกันได้ ซึ่ง สพท.จะเป็นผู้พิจารณาต่อไป นอกจากนี้เมื่อมีการจัดตั้งคณะทำงาน คพพ. ตามโครงสร้างอย่างเป็นระบบครบสมบูรณ์ทุกเขตแล้ว จะมีการรวบรวมปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขทั้งหมด จากนั้นจะมีการระบุใน พ.ร.บ.ชุดใหม่ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชน คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน เม.ย.นี้ จากนั้น จะนำผลที่ได้เสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณานำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณานำเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ต่อไป
"หลายคนกังวลว่าหากผู้ว่าฯ กทม.พ้นวาระไปแล้ว คพพ.จะยังอยู่หรือไม่ เชื่อว่าไม่มีใครกล้ายุบ คพพ. เพราะการดำเนินงานหนึ่งปีที่ผ่านมามีความแข็งแรง มีพลัง แต่ คพพ.ต้องวางแผนงานให้ชัดเจนมากขึ้น มีขอบเขตงาน มีการผลักดันและแบ่งการทำงานให้ชัดเจน" นายต่อศักดิ์ กล่าว