“มาตรฐานการ ใช้อำนาจหน้าที่”  ตามมาตรา ๑๕๗

                                                                                                           แก้วสรร อติโพธิ

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.68 นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ แพร่บทความเรื่อง “มาตรฐานการใช้อำนาจหน้าที่”  ตามมาตรา ๑๕๗

            ด้วยเห็นว่าบรรดาคำวิจารณ์ต่อคำพิพากษาศาลคดีทุจริต    ให้จำคุกอาจารย์พิรงรอง

รามสูต ๒ ปี ฐานใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง       กสทช. โดยมิชอบ ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์กัน

ระงมอยู่ในทุกวันนี้นั้น   ยังคลาดเคลื่อนตกหล่น         ไม่เพียงพอต่อการรับรู้โดยสมบูรณ์ของ

สาธารณะ   จำต้องขอวิพากษ์ให้ปรากฏในทำนอง ถาม-ตอบ ไว้ ดังต่อไปนี้

      ๑) ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๑๕๗

             “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความ

เสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้ง

แต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

      ๒)กฎหมายมีช่องว่าง???

ถาม   TRUE ID ที่อ้างว่า ตนถูกอาจารย์พิรงรอง       ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ตน

        เสียหายนั้น  เขาเสนอบริการอะไรต่อเราครับ

ตอบ  เขาทำแพลทฟอ์มที่เรียกว่า OTT (Over The Top) คือมีกล่องสัญญาณรวมเอา

        รายการทั้งปวง ที่ทีวีดิจิตอล หรือเคเบิ้ลทีวีถ่ายทอดออกมา มารวมไว้เป็นบริการให้

        เราเปิดเข้าถึงได้ตลอดเวลา  ทำให้เราไม่จำต้องเฝ้ารอดูหน้าจอตามเวลาที่ ทีวีเขา

        ถ่ายทอดอีกต่อไป OTT แบบนี้มีมากมาย มีทั้งที่ขายสมาชิกภาพ เช่น Netflix หรือ

        เข้าถึงได้โดยเสรีเช่น TRUE ID

ถาม   กิจการพวกนี้ไม่ต้องขออนุญาตหรือครับ

ตอบ  กิจการแบบ OTT นี้อาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นถนนขนส่งข้อมูล  ไม่ได้อาศัยคลื่นความถี่ 

        ที่กฎหมายไทยถือเป็นทรัพยากรของชาติ  กฎหมาย กสทช.ปัจจุบันจึงยังไม่มีระบบ

        ใบอนุญาตมาควบคุมเหมือนทีวี       ทำให้เถียงกันมาหลายปีแล้วว่ารัฐควรมีอำนาจ

        ควบคุมหรือไม่ อย่างไร 

ถาม   อาจารย์ว่าเราควรมีไหม

ตอบ  อินเตอร์เน็ตมันเป็นทางหลวงของโลกไปแล้ว  คุณจะให้ NETFLIX ที่เป็น OTT ชนิด

        ข้ามชาติข้ามโลก มาขออนุญาต กสทช.ไทย มันเป็นไปไม่ได้  อย่างเก่งบางรัฐเขาก็

        ทำได้แค่ห้ามถ่ายทอดรายการที่มีเนื้อหาต้องห้ามเท่านั้น

ถาม   เมื่อยังไม่มีกฎหมายแล้วมันเกิดคดีระหว่างทรูกับอาจารย์พิรงรองได้อย่างไร

ตอบ  มีผู้มาร้องเรียนต่อ กสทช.ว่า   OTT ของทรู  มีโฆษณาคอยแทรกตอนเปลี่ยนรายการ

        อยู่ด้วยทุกครั้ง  ผู้ร้องอ้างว่าทำอย่างนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

ถาม   อ้าว...เมื่อเขาต้องลงทุน เขาก็ต้องโฆษณาหารายได้เป็นธรรมดา   ใจคอคุณจะต้อง

        บริโภคฟรีทุกอย่างเลยหรือ   ไม่ชอบก็ไปดูแพลทฟอร์มอื่นสิครับ

ตอบ  ในชั้นพิจารณาคำร้องทุกข์ TRUE ID นี้   ก็ยุติกันตรงจุดนี้เหมือนกันว่า  เรายังไม่มี

         กฎหมายที่จะควบคุมเขา เรื่องก็เลยยุติไป  แต่ปรากฏว่าอาจารย์พิรงรอง ไม่ยอมยุติ 

         กลับนำปัญหานี้เข้ามาในอนุกรรมการใบอนุญาตโทรทัศน์ที่ตนเป็นประธาน     เพื่อ

         ผลักดันจัดการกับ TRUE ID ให้ได้

       ๓)ยุทธการตลบหลัง!

ถาม   เขาไม่ใช่ทีวี แล้ว กสทช.จะไปจัดการเขาได้อย่างไร

ตอบ  หลังจากถกเถียงกันอยู่นานในที่ประชุมอนุกรรมการกำกับใบอนุญาตโทรทัศน์   อาจารย์พิรงรองก็ผลักดันออกมาจนเป็นความเห็นได้ว่า แม้จะยังไม่มีกฎหมายคุม OTT   แต่เราก็มีอำนาจตามกฎหมาย ทีวี   เตือนไปยังทีวีทั้งหมดทั้ง ดิจิตอลและเคเบิ้ลได้ว่า  คุณจะถ่ายทอดได้ก็แต่เฉพาะช่องทางที่เราอนุญาตไว้  และถ้ามีรายการประเภทบังคับให้ถ่ายทอด ( Must Carry) คุณก็จะให้มีโฆษณาปรากฏด้วยไม่ได้

ถาม   หมายความว่า  จะจัดการให้พวกทีวี ต้องยอมปฏิเสธไม่ให้พวก OTT เอารายการของตนไปใส่กล่องสัญญาณ เช่นนั้นหรือ

ตอบ  ถูกต้องครับ  เมื่อยังไม่มีกฎหมาย OTT เราก็ใช้กฎหมายทีวีนี่แหละ ไป“ตลบหลัง”บีบทีวีทั้งหลายให้ปฏิเสธไม่ให้ถ่ายทอดรายการของตนได้   ซึ่งหลังจากเถียงกันอยู่นานในที่สุดก็ออกมาเป็นหนังสือเตือนถึงทีวี ๑๒๗ เจ้า  เมื่อ ๒๔ กุมภา ๒๕๖๖ จนได้

     ๔)ล้มยักษ์!

ถาม   เขาเตือนมาเป็นการทั่วไป ตามการตีความกฎหมายของเขา ถูกผิดอย่างไรก็ไปให้

         ศาลปกครองชี้ขาดได้  ทำไมทรูมาฟ้องเป็นคดีอาญาเอาถึงติดคุก ๒ ปีแบบนี้

ตอบ  มันมีการออกหนังสือเตือนฉบับที่สองเตือนซ้ำมาอีกครั้ง เมื่อ ๓ กุมภา ๒๕๖๖  ครั้งนี้

         เติมความมาอีกว่า การถ่ายทอดทีวีผ่านช่องทางอื่นเช่น OTT นั้น OTT ดังกล่าวต้อง

         ได้รับอนุญาตด้วย  จากนั้นก็เลยระบุถึงTRUE ID โดยเจาะจงเลยว่า รายนี้ยังใม่ได้ขอ

         อนุญาต จึงเรียนมาให้ทุกท่านทราบและทำตามกฎหมายโดยเคร่งครัดด้วย

         พอออกหนังสือเตือนเติมมาอย่างนี้แล้ว  อาจารย์พิรงรอง ก็สั่งให้แก้ไขรายงานการ

         ประชุมเพิ่มความลงไปอีกว่าที่ประชุมมีมติให้ระบุ กรณี TRUE IDลงไปในคำเตือนด้วย

ถาม   เห็นศาลระบุว่า รายงานส่วนที่เติมนี้เป็นความเท็จ  คือที่ประชุมไม่ได้มีมติเช่นนั้นเลย

ตอบ  ครับ  คดียังได้ความจากเทปประชุมอีกนะครับว่า  อาจารย์พิรงรอง พูดว่า งานนี้เรา

        ต้องเตียมตัว ”ล้มยักษ์”  พอศาลถามว่า “ยักษ์”ในที่นี้คือใคร   อาจารย์ก็รับกับศาลว่า

        ตนหมายถึง TRUE ID  เรื่องมันก็เลยชัดเจนต่อศาลว่า   กสทช.คนนี้ใช้อำนาจหน้าที่

        ครั้งที่สองนี้ เพื่อมุ่งจัดการกับกล่องสัญญาณของทรูโดยเฉพาะ   

        ทรูเขาเห็นว่า อยู่ดีๆมาหยิบเฉพาะกล่องสัญญาณของเขารายเดียว มาระบุว่ายังไม่ได้

        รับอนุญาตได้อย่างไร  ทั้งๆที่ก็รู้ดีว่า กสทช.ยังไม่มีประกาศรับอนุญาตกล่องสัญญาณ

        OTT เลย  การระบุชื่อเขาขึ้นมาลอยๆในคำเตือนอย่างนี้  ยังผลทำให้ทีวีช่องต่างๆ พา

        กันไม่ไว้วางใจที่จะตกลงกับ TRUE ID อีกต่อไป   ทรูเขาก็เลยอ้างความเสียหายนี้มา

        ฟ้อง ๑๕๗  ในที่สุด

ถาม   เทปรายงานการประชุมที่ว่านี้    ฝ่ายต่อต้านเอ็นจีโอ ใน กสทช.ต้องส่งมาให้ TRUE

        แน่ๆเลย

ตอบ  ผมพอรู้จักคนใน กสทช.อยู่บ้าง ได้เช็คกับเขาแล้วพบว่า   เทปนี้ปรากฏขึ้นในศาลเอง

        ครับ เพราะชั้นแรกทรูฟ้อง ผอ.ที่ลงนามในหนังสือ เท่านั้น  ผอ.คนนี้ก็เลยต้องเอา

        เทปมาแสดงต่อศาลว่า ตนทำตามคำสั่งของประธานที่สั่งไว้อย่างนี้   ทรูเลยหันมา

        ฟ้องอาจารย์พิรงรองในที่สุด

    ๕)“ความผิด” ตามคำพิพากษา

ถาม   สรุปแล้วหนังสือเตือนฉบับนี้  ผิดพลาดจากกฎหมายอย่างไร

ตอบ  ที่ชัดเป็นข้อแรก  คือการตีความกฎหมายทีวีไปตลบหลังจัดการกับ OTT อย่างนี้มันมี

        ประเด็นต้องเถียงกันได้อีกมาก ว่า ทำได้โดยชอบหรือไม่  ซึ่งเรื่องสำคัญอย่างนี้ต้อง

        ผ่านมติ กสทช.ก่อน  อนุกรรมการที่คุมทีวีไม่มีอำนาจชี้ขาดเองเตือนเองได้เลย  ตรง

จุดนี้นับเป็นพฤติการณ์ล้ำหน้าชัดเจน

ถาม   แล้วการแต่งรายงานประชุมเป็นเท็จล่ะครับ

ตอบ  นั่นแสดงถึงความไม่สุจริต  จะเอาให้ได้ดั่งใจตนให้จงได้  ทั้งๆที่ในที่ประชุมไม่ได้มี

         มติอย่างนั้น  และค้านกันไว้ระงมว่าทำไม่ได้ ถูกฟ้องได้   ก็ไม่ยอมเชื่อ   

ถาม   แล้วใครยอมออกหนังสือเตือนเป็นทางการ ในนาม กสทช.

ตอบ  เป็นระดับ ผอ.เท่านั้น  เพราะระดับรองเลขา กสทช.  ไม่ยอมลงนาม รู้ทัน พากันติด

        ราชการต่างประเทศ หรือต่างจังหวัดกันหมด   มี ผอ.ใจถึง ยอมอยู่คนเดียว ท่านก็

        เลยโดนฟ้องไปด้วย

ถาม   ลำพังออกหนังสือเตือนโดยไม่ผ่านมติ กสทช. ไม่ผ่านมติอนุกรรมการ ก็ติดคุกผิด

        ๑๕๗ เลยหรือครับ

ตอบ  มันมีองค์ประกอบข้อสองมาสมทบว่า   นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดเท่านั้น  แต่มันมีเจตนา

        พิเศษยืนอยู่ในใจ ทำไปเพื่อจะให้ TRUE ID เขาเสียหาย   การทำรายงานการประชุม

        เป็นเท็จ ดื้อดึงเติมคดี TRUE ID ลงไปในหนังสือเตือนฉบับที่สอง  ด้วยคำรับว่าจะ

        “ล้มยักษ์”นั้น มันแสดงชัดเจนว่า   งานนี้ไม่ใช่คำเตือนทั่วไปเพื่อแก้ปัญหาทั่วไป 

        หากแต่มุ่งจะจัดการกับทรูเท่านั้นจริงๆ  

        แม้ภายหลังจากที่เกิดเป็นคดีแล้ว จะมีการเตือนเพิ่มเติมไปถึง OTT ของ AIS เพื่อให้

        ดูดีขึ้นเที่ยงธรรมขึ้นก็ตาม   แต่นั่นก็สายเกินการไปเสียแล้ว

ถาม   ตกลง อาจารย์เห็นว่า ศาลอาญาคดีทุจริตไม่ได้ใช้มาตรา ๑๕๗ โดยพร่ำเพื่อ อย่างที่

         เขาวิพากษ์กันใช่ไหมครับ

ตอบ   “ตัวการกระทำ” มันนอกกฎหมายจริงๆ  ส่วน “ตัวคน” ก็มีเจตนาทำไปเพื่อจะให้เขา

         เสียหายชัดเจน  ถ้าเป็นผม ผมก็ไม่เห็นทางจะตัดสินเป็นอย่างอื่นได้   ไม่ทราบจริงๆ

         ว่าใครเป็นที่ปรึกษากฎหมายของอาจารย์   พามาตายกลางถนนอย่างนี้ได้อย่างไร

         คดีนี้เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า   ไม่ว่าคุณจะ ฝังใจคิดทำเพื่อมวลมหาผู้บริโภค จนเป็น

         ความสุจริตฝังแน่นอยู่ในใจอย่างไรก็ตาม  แต่ตำแหน่ง กสทช.ที่คุณเข้ามานั่งนั้น  

         มันมีกรอบกฎหมายรอครอบหัวคุณอยู่เสมอว่า ตัวคุณนั้นไม่มีอำนาจในตัวเอง เรือง

         แสงด้วยตัวเองไม่ได้  อย่าทำอะไรที่เกินกฎหมายและต้องเที่ยงตรงเสมอภาคทุกครั้ง 

ถาม   ความเสมอภาคที่ว่านี้ ถ้าจะเปรียบเทียบก็เข้าทำนองว่า นโยบายกวาดล้างซ่องของ

         ท่านผู้กำกับนั้น ถูกต้องก็จริง  แต่ท่านจะประกาศออกมาเพื่อจ้องจับอยู่ซ่องเดียว

         ไม่ได้ ใช่มั้ยครับ

ตอบ   ถูกต้อง...ถ้ากฎหมายถูกเลือกใช้ได้ตามอำเภอใจ  มันก็ไม่ใช่กฎหมายแล้ว ประเทศ

         ไทยเรานี้ มีปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคภายใต้กฎหมายแบบนี้มากจริงๆ นะครับ

         คุณดูสิ... ขนาดไม่ยอมติดคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด ก็ยังทำได้เลยเห็นไหม แล้ว

         อย่างนี้บ้านเมืองเราจะไปรอดได้อย่างไร?????                                 

                                       ...............................