วันที่ 10 ก.พ.68 เวลา 10.00 น.ที่หน้ากระทรวงคมนาคม นายกฤษฎา อินทามระ พร้อมอดีตพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย 100 คน เข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ดการท่าเรือฯ ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษทางวินัยร้ายแรง กับ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 15 ต.ค.67 พนักงานการท่าเรือกว่า 100 คนได้ไปชุมนุมกันที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือ ต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้การท่าเรือชดใช้ค่าเสียหายทั้งทางร่างกาย จิตใจ และชื่อเสียงกรณีถูกการท่าเรือร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานทั้งที่พนักงานเป็นผู้บริสุทธิ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือลงวันที่ 16 ต.ค.67 ขอให้การท่าเรือพิจารณาตรวจสอบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกรณีตนได้ยื่นหนังสือดังกล่าว และกระทรวงคมนาคม ก็พิจารณาแล้วเห็นควรส่งเรื่องให้การท่าเรือดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด แล้วแจ้งให้ตน และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทราบโดยตรง แล้วรายงานให้กระทรวงทราบด้วย แต่การท่าเรือก็ยังคงเพิกเฉยเรื่อยมากระทรวงจึงมีหนังสือลงวันที่ 4 ธ.ค.67 เร่งรัดให้การท่าเรือแจ้งผลการพิจารณาดำเนินการให้กระทรวงทราบด้วย
ต่อมา การ ท่าเรือมีหนังสือลงวันที่ 29 ม.ค.68 ถึงตนและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวง ผู้ลงนามในหนังสือทั้งสามฉบับคือผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยข้อความในหนังสือทั้งสามฉบับมีข้อความเหมือนกัน โดยกล่าวอ้างว่า การ ท่าเรือมิได้มีความประสงค์ที่จะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษพนักงานและอดีตพนักงานเกี่ยวกับกรณีทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลามาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งข้อความดังกล่าวตนเห็นว่าเป็นความเท็จทั้งสิ้นเพราะความจริงคือ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.60 การท่าเรือมีความประสงค์ดำเนินคดีอาญากับนายจงเด่น บุตรสุทธิวงศ์ ,นายเฉลียว สุขเกษม และนายวรพล อินทร์น้อย กับพวกพนักงานและอดีตพนักงานรวมทั้งบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง และถึงแม้ว่าในหนังสือดังกล่าวจะอ้างว่าเป็นการร้องทุกข์ตามหนังสือของ ดีเอสไอ ที่ส่งมาถึงการท่าเรือก็ตาม ข้อกล่าวอ้างเช่นนี้ถือเป็นการโยนความผิดไปให้ดีเอสไอ เพราะก่อนที่การท่าเรือจะแสดงความประสงค์เป็นผู้เสียหายและร้องทุกข์กล่าวโทษมอบคดีให้ ดีเอสไอเป็นผู้ดำเนินคดีกับพนักงานจำนวนมากนั้นการท่าเรือก็จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานลักฐานแห่งการกระทำความผิดให้แน่ชัดและครบถ้วนเสียก่อนว่า พนักงานจำนวนหลายร้อยคนนั้นได้มีการกระทำความผิดจริงหรือไม่เพียงไร แต่ก็หาได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดไม่ จึงเป็นเหตุให้คดีพิเศษต้องดำเนินต่อไปได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่พนักงานผู้บริสุทธิ์หลายร้อยคนที่ต้องทน ทุกข์ทรมาน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จากการถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรมทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และการทำหนังสือที่มีข้อความอันเป็นเท็จนั้น ก็มีเจตนาพิเศษต้องการช่วยเหลือผู้บริหารและอดีตผู้บริหารกว่า 30 คน กำลังถูก ป.ป.ช.ไต่สวนความผิดข้อหากลั่นแกล้งพนักงานในคดีพิเศษเพื่อต้องการให้บุคคลเหล่านั้นพ้นผิดหรือไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง การกระทำของ ผู้อำนวยการการท่าเรือจึงมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ตนจึง ต้องมาร้องเรียนให้ลงโทษทางวินัยผู้อำนวยการคนดังกล่าวหากพบว่ามีความผิดจริงขอให้ลงโทษสถานหนักด้วย