ปี 2562 นี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน การประชุมคงว่าด้วยความร่วมมือในหลายๆ ด้าน การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อันเป็น 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ในด้านเสาหลักประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN SOCIO-CULTURAL COMMUNITY หรือ ASCC) หลายคนมองว่าไม่ค่อยจะมีบทบาทสักเท่าใดนัก ทว่ามองให้ลึกแล้วเสาหลักอันนี้ถือว่าสำคัญทีเดียว ที่จะสร้างความสมัครสมานสามัคคีของ 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ที่มิใช่เพียงระดับรัฐบาลแต่ยังลงไปถึงระดับประชาชน ปัจจุบันประชากรในอาเซียนรวมกันแล้ว 640 กว่าล้านคน (ข้อมูล World Bank) หรือประมาณร้อยละ 8 ของประชากรโลก แต่ละประเทศล้วนแล้วมีต้นทุนวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ร่วมกันมาแต่ในอดีต ทั้งในเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม ศิลปะ ศาสนา มรดกภูมิปัญญา วรรณกรรม ดนตรี อาหารการกิน ฯ ที่เหมือนหรือต่างคล้ายกัน ต่างถ่ายเทหรือรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากดินแดนภูมิภาคอื่น (เปอร์เซีย อินเดีย จีน ฯ) นำมาปรับให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิถี ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละชาติ นับว่าประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นดินแดนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชนชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียนครั้งนี้ โดยในส่วนกระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอ “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน” เป็นไปตาม “ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เห็นชอบให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year 2019) ตามที่ประเทศไทยเสนอ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของเสาหลักนี้” (วีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม 25ธ.ค.61) ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมคลอดปฏิทินแผนการดำเนินกิจกรรมและโครงการตลอดปี 2562 ที่จะส่งเสริมบทบาทของไทยและเชิดชูเกียรติภูมิของอาเซียนด้วยมิติทางวัฒนธรรม พร้อมเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในการเป็นประธานอาเซียน ตลอด 9 เดือน ไล่เรียงตั้งแต่เดือน มกราคม เปิดตัวปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียนและเปิดตัวหนังสือวิวิธอาเซียน (Vivid ASEAN) ฉบับภาษาอังกฤษ รวมถึงเปิดพื้นที่ส่วนขยายศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนพร้อมนิทรรศการใหม่ “ASEAN Street Food” กุมภาพันธ์ เปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร เชิดชูรามเกียรติ์หรือมหากาพย์รามายณะ อันเป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของอาเซียน โดยนำภาพจิตรกรรมฝาหนังเรื่องรามเกียรติ์บริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถพระศรีรัตนศาสดารามมาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาสู่การใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรม มีนาคม เปิดตัวหนังสือมรดกอาเซียน มรดกโลก รวบรวมข้อมูลแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน เพื่อแสดงถึงความหลากหลายและร่ำรวยทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมษายน จัดมหกรรมวัฒนธรรมอาเซียน ภายใต้งานมหกรรมวัฒนธรรม “ใต้ร่มพระบารมี 237 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” นำเสนอสุดยอดการแสดงทางวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน เปิดเวทีพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างศิลปินอาเซียน พฤษภาคม สัมมนาและการแสดงวรรณกรรมร่วมของอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณกรรมร่วมในภูมิภาค อาทิ รามายณะ อิเหนา สังข์ทอง กากี และศรีธนญชัย มิถุนายน เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน เป็นหนึ่งในกิจกรรมคู่ขนานตามวาระการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในงานเทศกาลฯ อาทิ ประกาศภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ศิลปินยอดเยี่ยม ประกาศยกย่องบุคลากรผู้มีบทบาทสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอาเซียน ตลอดจนมีศิลปินดาราดังจากอาเซียนเข้าร่วมงาน กรกฎาคมและสิงหาคม กิจกรรมวัฒนธรรมสัญจรอาเซียนสู่โลก (Roadshow: ASEAN to the World) ภายใต้หัวข้อ “หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน (Diversity, Creativity, and Sustainability)” โดยไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานนำสุดยอดศิลปินจากประเทศสมาชิกอาเซียนจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมกันในภูมิภาคต่างๆ ทั้งในยุโรปและเอเชีย กันยายน งานเทศกาลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และกิจกรรมวัฒนธรรมสัญจรในส่วนภูมิภาค พฤศจิกายน เทศกาลหุ่นอาเซียนและประเทศคู่เจรจา นำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาผ่านศิลปะการแสดงหุ่น ซึ่งมีแบบแผนการแสดงที่แตกต่างกัน นายวีระ รมว.วัฒนธรรม กล่าวการจัดเทศกาลดังกล่าว “ถือเป็นกิจกรรมคู่ขนานในวาระที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ณ กรุงเทพมหานคร เป็นการใช้มิติทางวัฒนธรรมส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยภายใต้นโยบายการทูตทางวัฒนธรรม ผสานอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยอัตลักษณ์ที่งดงามความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเชิดชูเกียรติภูมิของอาเซียนให้โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เป็นการผนึกกำลังของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสร้างบทบาทเชิงรุกในประชาคมโลก” เชื่อมสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน "บูรพา โชติช่วง" รายงาน