บูรพา โชติช่วง / รายงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าป้ายตีตรามรดกโลกตามสถานที่สำคัญๆ และโดดเด่นสะท้อนความภาคภูมิใจของประเทศชาตินั้นๆ ย่อมมาพร้อมกับผลประโยชน์ก้อนใหญ่จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเชิงวัฒนธรรม เชิงธรรมชาติ ไปจนถึงในรูปแบบการให้บริการต่างๆ อันเป็นจุดขายของทัวร์
ความสำเร็จของบัญชีมรดกโลกนั้นมีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มาพร้อมกับการแก้ปัญหาสภาพเสื่อมโทรม และอาจตกอยู่ในสภาวะอันตราย จนถูกถอดถอน เมื่อมองแหล่งที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ยูเนสโก มาจนถึงปี 2567 ประกอบด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ 1,223 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกถือว่ามีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากล แยกเป็นมรดกทางวัฒนธรรม 952 แห่ง มรดกทางธรรมชาติ 231 แห่ง และมรดกแบบผสม 40 แห่ง ใน 168 รัฐภาคี จากรัฐภาคี 196 รัฐ ที่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญามรดกโลก
ในขณะที่ทุกๆ ปี จะมีรัฐภาคีส่งชื่อแหล่งเข้าสู่รายการบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ในส่วนของประเทศไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการบรรจุรายชื่อในบัญชีเบื้องต้น จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระบรมธาตุ) จังหวัดนครศรีธรรมราช (2555) อนุสรณ์สถาน แหล่งต่างๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา (2558) พระธาตุพนม กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง (2560) กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด (2562) สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา (2567) ด้านแหล่งมรดกทางธรรมชาติ ได้แก่ พื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน (2564) และอีกหลายแหล่งที่เตรียมส่งชื่อเข้าสู่รายการนี้
การมีชื่ออยู่ในบัญชีเบื้องต้นแล้ว รัฐภาคีอาจตัดสินใจส่งเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกในอีก 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า และอาจปรับปรุงได้ตลอดเวลา ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งต้องครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยต้องแน่ใจว่ามีเอกสารและแผนที่ที่จำเป็นรวมอยู่ด้วย การเสนอชื่อจะถูกส่งไปยังศูนย์มรดกโลกเพื่อตรวจสอบเอกสารฉบับสมบูรณ์ (Nomination Dossier) หากเสร็จสมบูรณ์ ศูนย์มรดกโลกจะส่งไฟล์ดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อรับการประเมินจากหน่วยงาน 2 แห่ง ได้แก่ สภาโบราณสถานและสถานที่ระหว่างประเทศ (ICOMOS) และสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินสถานที่ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ และหน่วยงานที่ปรึกษาแห่งที่สามคือศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาด้านการอนุรักษ์และบูรณะทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (ICCROM) ที่ให้คำแนะนำผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการอนุรักษ์สถานที่ เมื่อสถานที่ใดได้รับการเสนอชื่อและประเมินแล้ว คณะกรรมการมรดกโลกจะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งจะประชุมกันปีละครั้งว่าสถานที่ใดจะได้รับการขึ้นทะเบียนในรายการมรดกโลก คณะกรรมการอาจเลื่อนการตัดสินใจและขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่จากรัฐภาคีได้
ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อที่จะรวมอยู่ในรายการมรดกโลก สถานที่นั้นจะต้องมีคุณค่าที่โดดเด่นในระดับสากลและเป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกอย่างน้อย 1 ใน 10 ข้อ เกณฑ์เหล่านี้มีคำอธิบายอยู่ในแนวปฏิบัติตามอนุสัญญามรดกโลกแล้ว ยังเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินงานด้านมรดกโลกอีกด้วย ฯลฯ สิ่งที่ร่ายมาสังเขปสามารถหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ whc.unesco.org ที่เกี่ยวข้องมรดกโลก
แน่ล่ะ การมีชื่อแหล่งอยู่ในบัญชีมรดกโลกย่อมเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ พร้อมกับนำมาซึ่งรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในขณะที่รัฐบาลไทย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรม ให้เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยพยายามผลักดัน 1 ภูมิภาค 1 มรดกโลก ให้ครบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กรมศิลปากร ดำเนินการขอจัดส่งเอกสารฉบับสมบูรณ์(Nomination Dossier) ของแหล่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระบรมธาตุ) จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อที่ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับเกณฑ์ของมรดกโลก ข้อ 2 และข้อ 6 โดยส่งไปที่ศูนย์มรดกโลกกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้ทันภายในวันที่ 31 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อที่นำเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนมรดกโลก ถ้าไม่มีอะไรปรับปรุงแก้ไขคาดว่าวัดพระมหาธาตุฯ น่าจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 2569 เป็นแห่งของแรกภาคใต้ และแห่งที่ 6 ของประเทศไทย
ในส่วนของชื่อแหล่งที่เหลืออยู่ในบัญชีเบื้องต้น แต่ละแห่งอาจต้องใช้เวลาจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เมื่อมองดูนโยบาย 1 ภูมิภาค 1 มรดกโลก คงต้องใช้เวลานานหรือรอต่อไปเรื่อยๆ