กรมทางหลวงขานรับนโยบายรัฐบาลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชายแดนใต้ เปิดใช้ทางหลวงหมายเลข 4056 สายนราธิวาส - อ.สุไหงโกลก ตอน บ.โคกตา - บ.กือบงกาแม อย่างเป็นทางการแล้ว ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย

เมื่อวันที่่ 6 ก.พ. 68 นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพ สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4056 สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมากมาย

ทางหลวงหมายเลข 4056 เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดนราธิวาสกับอำเภอสุไหงโกลก มีจุดเริ่มต้นที่ กม.15+600 - กม.53+238 ระยะทางรวม 37.638 กิโลเมตร พื้นที่ชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ที่ผ่านมาการจราจรบนถนนสายนี้หนาแน่นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรประมาณ 6,000 คัน/วัน ดังนั้น การยกระดับทางหลวงเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ด้วยความสำคัญนี้ กรมทางหลวงโดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4056 ตอน บ.โคกตา - บ.กือบงกาแม ช่วง กม.36+275 - กม.47+775 ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยได้ยกระดับถนนจากขนาด 2 ช่องจราจร เป็นขนาด 4 ช่องจราจร ผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต พร้อมไหล่ทางชนิดเดียวกับผิวทาง ด้านนอกกว้าง 2.5o เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลางแบบเกาะยกและแบริเออร์คอนกรีต รวมถึงติดตั้งสิ่งอำนวยความปลอดภัยต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 518,426,789 บาท 

ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ทำการเปิดให้ประชาชนใช้เส้นทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทาง ลดปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้การเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดนราธิวาสและอำเภอสุไหงโกลกเป็นไปอย่างราบรื่น ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งการค้าชายแดน การลงทุน และการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเดินทางไปทำธุระ ติดต่อราชการ หรือเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาทางหลวงสายนี้ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่นิยมเดินทางเข้ามายังประเทศไทยผ่านทางด่านชายแดนสุไหงโกลก ซึ่งเป็นด่านการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัด การมีทางหลวง 4 ช่องจราจรจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางและอำนวยความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น