ความพ่ายแพ้เกือบทั้งกระดาน ในสมรภูมิ 1 กุมภา ไม่อาจดับอหังการของ “ค่ายสีส้ม” ลงได้ หากอ่านจากสัญญาณของเจ้าสำนักอย่าง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง แม่ทัพใหญ่ที่ปลุกปลอบขวัญตนเอง พลพรรคและด้อมส้ม ว่าพวกเขา “ไม่แพ้” และยังมองบวกข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ที่ว่าคะแนนนิยมของพรรคประชาชนที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจทำให้พวกเขาได้สส.ถึง 250 ที่นั่งในการเลือกตั้งใหญ่

“คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นแน่นอน จะเกิน 250 หรือเปล่าไม่รู้  ...สถิติมันบอกมาว่าเราเติบโตจากปี 63 ทุกจังหวัด ไม่มีจังหวัดไหนที่เราได้น้อยกว่าปี 63” (ธนาธร ให้สัมภาษณ์รายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ 3 กุมภาพันธ์)

แต่ความเชื่อมั่นของ “ธนาธร” กลับสวนทางกับสายตาของบรรดานักวิเคราะห์การเมือง ที่ต่างมองในทิศทางเดียวกันว่าเป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับอัปราชัยในศึกเลือกตั้งนายกอบจ.  เนื่องจากมีการระดมทีมอเวนเจอร์ลงไปช่วยหาเสียงกันชนิดเต็มอัตราศึก  ทั้งผู้นำจิตวิญญาณเจ้าของพรรคตัวจริงอย่าง  “ธนาธร” “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และหัวหน้าพรรคประชาชนคนล่าสุดอย่าง “เท้ง”ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ที่รายหลังนี้มีโพลการันตีว่าคะแนนนิยมโดดเด้งมาเป็นอันดับ 1

แม้การลงพื้นที่ปราศรัยจะมีกระแสตอบรับเกรียวกราว แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมากลับกลายเป็น “ศพเกลื่อน”  เมื่อ“พรรคประชาชน” ล็อกเป้าส่งผู้สมัครลงแข่งใน 17 จังหวัดที่มีโอกาสมากสูง  สุดท้ายหลือรอดกลับมาเพียงจังหวัดเดียวคือ “ลำพูน”

ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้มีชัยชนะ ก็ด้วยผู้สมัครนั้น เป็นตัวแทนของ “บ้านใหญ่” ตระกูลการเมืองในพื้นที่ อย่าง“ตระกูลภู่พิสิฐ”  คือ วีระเดช ภู่พิสิฐ บุตรชายของ  “โกเก๊า” ประเสริฐ ภู่พิสิฐ  อดีตนายก อบจ.ลำพูน และประธานหอการค้าลำพูน

แม้ค่ายส้มจะพยายามเคลมว่า เป็นผู้สมัคร “โนเนม” ล้มบ้านใหญ่ “ตระกูลวงศ์วรรณ” อย่าง อนุสรณ์ วงศ์วรรณ จากพรรคเพื่อไทย แต่ในโลกยุคดิจิทัลนั้นสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ทำให้ไม่สามารถอ้างได้เต็มปากว่าเป็นกระแสของพรรคส้ม

ในขณะที่อีก 16 จังหวัดนั้นแพ้กราวรูด กางให้ดูกันชัด  โดยเฉพาะในจังหวัดที่ได้ สส.ยกจังหวัด หรือ “ส้มสไลด์” อย่างสมุทรปราการที่เคยแดงทั้งแผ่นดินกลายเป็นส้มทั้งแผ่นดินมีสส.อดีตพรรคก้าวไกลทั้ง 8 เขต เรียกว่าพื้นที่ความหวัง  “ธนาธร” ไปลุ้นผลเลือกตั้งด้วยตนเอง แต่ก็พ่ายไปกว่า 2 หมื่นคะแนน ให้กับบ้านใหญ่ “ตระกูลอัศวเหม”

ที่นนทบุรีก็เช่นกัน  ในการเลือกตั้งปี 66 อดีตพรรคก้าวไกลได้สส.ยกจังหวัด 8 ที่นั่ง ก็พ่ายให้กับอดีตนายกอบจ.4 สมัยหลุดรุ่ยหลายหมื่นคะแนน 

ส่วนระยองก็ได้สส.ยกจังหวัดกวาดมา 5 เขตเลือกตั้ง ก็พ่ายให้เครือข่ายบ้านใหญ่ “ตระกูลปิตุเตชะ” ที่จันทบุรีก็มีสส.ยกจังหวัดทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง ก็แพ้แชมป์เก่า 7 สมัยไปด้วยคะแนนทิ้งห่างเกินครึ่ง

หรือแม้แต่ในจังหวัดที่กระแสพรรคได้รับการตอบรับดีในการเลือกตั้งปี 66 คือที่สุราษฎร์ธานี ได้คะแนนสส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์มาอันดับ 1  ก็กลับไม่ช่วยอะไร

ขณะเดียวกัน “บ้านใหญ่”ที่ย้ายไปซบส้ม  เช่นที่นครนายก ที่ได้แชมป์เก่าสวมเสื้อพรรคประชาชนลงสนามเอง กลับต้องประสบความพ่ายแพ้ รวมทั้งที่ สมุทรสงคราม ที่ได้ทายาทการเมืองอดีตนายกอบจ.มาลงสมัครก็จบไม่สวยอีกเช่นกัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. โพสต์ เฟซบุ๊กว่า “สมการ สูตรส้ม ที่กินได้ส้มชนะที่เดียวที่ลำพูน  ทำให้สรุปค็อกเทล สูตรส้ม ได้ดังนี้

1. กระแส = กินไม่ได้

2. กระแส + สส. ใน พื้นที่ = กินไม่ได้ (เช่น ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง ตราด เชียงใหม่)

3. กระแส + ผู้สมัคร = กินไม่ได้ (เช่น  นครนายก ผู้สมัครเป็นอดีตนายก อบจ.)

4. กระแส + ผู้สมัคร + บ้านใหญ่ = กินได้ (เช่น ลำพูน ผู้สมัครเป็นลูกอดีตนายก อบจ.)”

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการเลือกตั้งนายกอบจ.รอบนี้ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์การเมือง คาดการณ์ว่า ส้มจะกินแห้วอีก ในการเลือกตั้งท้องถิ่น อีก 2 สนามในเดือนมีนาคม 2568 คือ เลือกตั้งนายกเทศมนตรี และเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต.

โดยพิเคราะห์อย่างสังเคราะห์ ไปที่จุดอ่อน ของพรรคประชาชนว่า ที่ผ่านมาในการหาเสียงมักชูกระแสผู้นำพรรค โดยไม่ได้ให้ความสำคัญในการคัดตัว “ผู้สมัคร” ที่มีความโดดเด่นเท่าที่ควร ในขณะที่ผู้นำพรรคคนปัจจุบัน คือ “เท้ง” นั้นแม้จะไม่มีใครกังขาเรื่องความรู้ความสามารถ แต่ยังขาด “คาริสม่า” หรือ “เสน่ห์” ทางการเมือง

เมื่อพึ่งพิงกระแสผู้นำ หากมองไปเบื้องหน้า เกมที่กระชั้นเข้ามาบีบค่ายสีส้มจะเจอด่านสำคัญ ของป.ป.ช.คือการพิจารณากรณี 44 สส.ที่ลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ที่หากผลออกมาเป็นลบ ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะยึดเอาหลักการคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นบรรทัดฐาน

ซึ่งใน44สส.นั้น มีชื่อของ “เท้ง” และแกนนำแถว3 อีกหลายคนที่ปลายทางอาจต้องหลุดวงโคจรการเมืองออกไปนั่งข้างสนาม ในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึง จึงน่าจับตาว่าจะเดินการเมืองกันอย่างไร ในขณะที่บรรดาบ้านใหญ่ที่หันไปสวมเสื้อส้มลงสนาม เมื่อเห็นบทเรียนจากศึกเลือกตั้งนายกอบจ. ก็อาจเบนเข็มเปลี่ยนเป้าหมาย

ฉะนั้น ฉากทัศน์การเลือกตั้งที่ “ธนาธร”มองไปถึงส้มไสลด์ 250 ที่นั่ง อาจเป็นเพียงความฝันที่ยากจะกลายเป็นจริง หากไม่ถอดบทเรียนจากความพ่ายแพ้และย่ามใจกับ 1 เสียงตีไข่แตกที่ลำพูน  ท่ามกลางสารพัดปัจจัยลบ อาจส่งผลให้กระแสส้มเริ่มจืดจางและซีดหายไปเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้