วันที่ 6 ก.พ.68 เวลา 10.40 น. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นางสาวโคอิเกะ ยูริโกะ (Ms. Koike Yuriko) ผู้ว่าการกรุงโตเกียว และคณะรวม 25 คน ในโอกาสเดินทางมาเยือนกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับมอบกุญแจเมืองหรือกุญแจสัญลักษณ์ของกทม. รวมทั้งความ ร่วมมือด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทั้งสองเมืองประสบร่วมกัน ประกอบด้วย 1.การตอบสนองต่อภัยพิบัติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.ความท้าทายในการบริหารจัดการเมืองอันเนื่องมาจากสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ 3.นโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ 4.นวัตกรรมสู่การพัฒนาเมืองในอนาคต

 

โดยทั้งสองฝ่ายลงนาม Joint Communique ยืนยันที่จะดำเนินงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในประเด็นต่าง ๆ เช่น ปัญหาอัตราการเกิดลดลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่สำหรับประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่เมืองที่ยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกันด้วยความเคารพและให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เป็นความท้าทายร่วมกันของเมืองทั่วโลกเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

 

นางสาวโคอิกะ กล่าวว่า ปี 2567 กรุงโตเกียวและกรุงเทพมหานครมีการหารือกันเรื่องอัตราการเกิดต่ำ เนื่องจากทั้งสองเมืองประสบปัญหาเดียวกัน รวมถึงที่ผ่านมาก็มีความร่วมมืออีกหลายเรื่อง จึงอยากให้การแถลงการทำงานร่วมกันในวันนี้เป็นก้าวแรกที่จะทำให้กรุงโตเกียวและกรุงเทพมหานครเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของทั้งสองเมือง ทั้งนี้ ในด้านภัยพิบัติ กรุงโตเกียวหรือประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่อยู่กับภัยพิบัติ ดังนั้น กรุงโตเกียวจึงมุ่งหวังที่จะสร้างความพร้อมให้ประชาชนกรุงเทพมหานคร โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้ประชาชนกรุงเทพฯ เกิดการตระหนักรู้ในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติ คิดว่าเรื่องนี้กรุงโตเกียวสามารถช่วยกรุงเทพฯ ได้ ส่วนเรื่องก่อการร้าย คิดว่าน่าจะมีความร่วมมือกันในการป้องกันต่อไปในอนาคต

 

ส่วนด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว สิ่งที่กรุงเทพฯ และกรุงโตเกียวเหมือนกันคือ ทั้งสองเมืองผ่านช่วงโควิดมา และสามารถฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้อีกครั้ง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายของคนทั่วโลก สิ่งที่กรุงโตเกียวควรเรียนรู้จากกรุงเทพฯ คือการทำให้ช่วงเวลากลางคืนมีความสนุกสนาน ดึงดูดนักท่องเที่ยว สามารถสร้างเศรษฐกิจได้

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ด้านภัยพิบัติ ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาสำคัญของกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นมากจากค่าเฉลี่ย กรุงเทพฯ ได้นำรูปแบบการระบายน้ำของกรุงโตเกียวมาใช้ เพื่อระบายน้ำลงอ่าวไทยโดยเร็วที่สุด เช่น ระบบระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมที่ประตูน้ำพระโขนงซึ่งมีอุโมงค์ระบายน้ำ เชื่อว่าแผนระบายน้ำต่าง ๆ ของกรุงโตเกียว สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกรุงเทพฯ ได้ เช่น อุโมงค์ระบายน้ำ ส่วนปัญหาที่กรุงเทพฯ และกรุงโตเกียวมีความคล้ายกันและน่าจะจัดการได้ก่อนคือ อัตราการเกิดต่ำ ประชากรลดลง ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน เพื่อทำให้การมีลูกไม่ยากลำบากเกินไป การดูแลเด็กที่เกิดขึ้นมาเพื่อลดภาระของพ่อแม่ การหางานหรือฝึกอาชีพให้ผู้สูงอายุ หากแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหา

 

ความท้าทายขณะนี้คือการทำให้คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อาศัยหลายมิติ เช่น การปลูกต้นไม้ ที่ผ่านมา กทม.ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 1,000,000 ต้น ปัจจุบันปลูกไปแล้ว 1,200,000 ต้น ส่วนกรุงโตเกียวก็มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวเช่นกัน และมีแอปพลิเคชั่นระบุพื้นที่สีเขียวเพื่อหาแหล่งพักผ่อนในเมืองได้ โดย กทม.อาจนำตัวอย่างนี้มาใช้พัฒนาเมืองต่อไป อีกเรื่องที่ควรเร่งดำเนินการคือ ความยั่งยืนทางสภาพอากาศ ความท้าทายคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เนื่องจากเป็นสาเหตุของโลกร้อน หากเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้ใส่ใจกับเรื่องโลกร้อนมากขึ้น ก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยตัวอย่างหนึ่งของกรุงโตเกียวที่ กทม.น่าจะนำมาใช้ได้คือ การออกกฎหมายใช้โซล่าเซลล์ในบ้าน ซึ่งน่าจะนำมาขยายผลในอาคารและกิจการทั่วไปได้ หัวใจสำคัญคือการเรียนรู้ร่วมกัน การนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม และปรับพฤติกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืน

 

ส่วนด้านการท่องเที่ยว มีแนวคิดทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชน ไม่กระจุกตัวเฉพาะบริษัทใหญ่ โรงแรมใหญ่ ต้องพัฒนาชุมชนให้มีอัตลักษณ์ตนเอง ซึ่งกรุงโตเกียวทำเรื่องนี้ได้ดี ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และกระจายรายได้สู่ชุมชน สิ่งหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวคือ การใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชั่นแนะนำสถานที่น่าสนใจต่าง ๆ กระตุ้นการท่องเที่ยว 

 

ผู้สื่อข่าวจากประเทศญี่ปุ่นถามว่า ทั้งกรุงเทพฯ และกรุงโตเกียว มีลานน้ำพุหลายแห่งคล้ายกัน เช่น ที่ไอคอนสยาม ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.มองว่าเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือไม่ อย่างไร โดยนายชัชชาติ ตอบว่า เรื่องน้ำพุเป็นสิ่งที่ดึงดูด จะเห็นว่านักท่องเที่ยวมาที่ไอคอนสยามจำนวนมาก โดยใช้เป็นแหล่งเคานต์ดาวน์อันดับต้นของกรุงเทพฯ เชื่อว่าเมืองจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีการใช้ของที่มีอยู่ทางประวัติศาสตร์ในการท่องเที่ยวมานานแล้ว ต้องสร้างขึ้นใหม่บ้าง เพราะจำเป็นต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต และดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น