ต้องถือเป็นอีกหนึ่ง “น่านน้ำเนื้อหอม” ที่ชาติมหาอำนาจน้อยใหญ่ต่างพากัน “รุมตอม” สำหรับ “ทะเลจีนใต้” น่านน้ำฟากฝั่งทางปัจฉิมทิศแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก ของย่าน “ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก” เรา โดยแม้ว่าท้องทะเลน่านน้ำดังกล่าว ได้ชื่อว่า เป็น “น่านน้ำเจ้าปัญหา” เพราะต่างฝ่ายหลายชาติล้วนอ้างกรรมสิทธิ์เกาะแก่งบางหมู่เกาะของทะเลแห่งนี้ อย่าง “หมู่เกาะสแปรตลี” และ “หมู่เกาะพาราเซล” ที่ปรากฏว่า 6 ชาติล้วนต่างอ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ได้แก่ “จีนแผ่นดินใหญ่” ที่เปรียบเสมือนเป็น “คู่ปรปักษ์หลัก” กับอีก 5 ชาติอื่นๆ อันมี ไต้หวัน บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ปรากฏว่า ความขัดแย้งทำท่าว่า มิได้จำกัดวงอยู่แต่ 6 ชาติผู้พิพาทเท่านั้น ทว่า ได้มีบรรดาประเทศมหาอำนาจใหญ่น้อยทะยอยตบเท้าเข้าร่วมวงไพบูลย์ในความขัดแย้งข้างต้นด้วย ภายใต้ข้ออ้างว่า “ทะเลจีนใต้” เป็นเส้นทางน้ำเดินเรืออย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็น “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายา “พญาอินทรี” ที่พยายามรักษาอิทธิพลของตนที่มีมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เอาไว้ให้ได้มากที่สุด หลังถูก “พญามังกรจีน” ที่กลายสภาพเป็น “มังกรผงาดฟ้า” เบียดแซงหน้า จนอิทธิพลลดน้อยถอยลงไปในภูมิภาคแห่งนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ถึงขนาดส่งกองเรือรบต่างๆ ประดามี มาตระเวนในทะเลจีนใต้แห่งนี้ ตามมาด้วย “รัสเซีย” สมญานาม “พญาหมี” ที่พยายามทวงคืนอิทธิพลความยิ่งใหญ่เหมือนในครั้ง “อดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย” ที่เคยเป็นมหาอำนาจคู่แข่งของพญาอินทรีสหรัฐฯ กันอีกคำรบ ด้วยการส่งทั้งฝูงเรือดำน้ำมาเพ่นพ่านน่านน้ำเจ้าปัญหา โดยปรากฏเป็นข่าวในปฏิบัติการเรือดำน้ำเทียบท่าเรือเมืองคามรานห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อปีก่อน นอกจากนี้ ก็ยังมีเหล่าชาติอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งอินเดีย ก็ข้ามมหาสมุทรอินเดียเข้ามา ซึ่งบรรดาประเทศเหล่านี้ เข้ามายังทะเลจีนใต้ ด้วยการส่งกองเรือยุทธนาวีเข้ามาบ้าง หรือไม่ก็ส่งฝูงบินรบบ้าง ตลอดจนการร่วมฝึกซ้อมรบภายใต้รหัสต่างๆ ใช่แต่เท่านั้น ล่าสุด “อังกฤษ” เจ้าของฉายา “แดนผู้ดี” ก็มีทีท่าว่าสนใจในการเข้ามายังทะเลจีนใต้ โดยเป็นการตบเท้าเข้ามาในลักษณะที่เข้มข้นกว่าแต่ก่อนด้วย โดยมิใช่เพียงแต่ส่งกองเรือรบเวอร์ชันต่างๆ มาตระเวนเพ่นพ่านในน่านน้ำเจ้าปัญหาแห่งนี้เท่านั้น เหมือนอย่างเพียงแค่กรณีที่ เรือรบหลวง “เอชเอ็มเอส อัลเบียน” แล่นมายังทะเลจีนใต้เมื่อช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้วไม่ แต่ทว่า ถึงขั้นหมายมั่นที่จะสถาปนาขึ้นเป็น “ฐานทัพ” ในย่านเอเชีย – แปซิฟิก ให้ชิดใกล้กับทะเลจีนใต้มากยิ่งขึ้นกันเลยทีเดียว นอกเหนือจากการเข้าร่วมซ้อมรบในรหัสต่างๆ กับกองทัพของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแห่งนี้แล้ว “เรือเอชเอ็มเอส อาร์ไกลล์” (ลำกลาง) หนึ่งในเรือรบของกองทัพเรืออังกฤษ ที่ทางการลอนดอน ส่งเข้ามาร่วมฝึกซ้อมรบ “เบอร์ซามาลิมา 2018” ที่น่านน้ำนอกชายฝั่งของมาเลเซีย เมื่อปีที่แล้ว โดยการเปิดเผยของ “นายเกวิน วิลเลียมสัน” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ” ซึ่งระบุไว้เมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับแผนการยุทธศาสตร์ทางการทหารของอังกฤษ ภายหลังจากที่อังกฤษ พ้นจากสมาชิกสภาพของสหภาพยุโรป หรือเบรกซิต อันจะมีผลตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ที่จะถึงนี้ เป็นต้นไป รัฐมนตรีวิลเลียมสัน กล่าวว่า การขยายฐานทัพเข้ามายังทะเลจีนใต้ข้างต้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการทหารของอังกฤษครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาเลยก็ว่าได้ พร้อมกันนี้ เจ้ากระทรวงกลาโหมแห่งเมืองผู้ดี ยังระบุด้วยว่า ฐานทัพในทะเลจีนใต้ข้างต้น ก็จะส่งผลให้อังกฤษ ได้โอกาสสำหรับการแสดงบทบาทในเวทีโลกด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้นกันอีกครั้งอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางการทหารระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นบทบาทที่มีความสำคัญยิ่งของอังกฤษ เรือรบ “เอชเอ็มเอส อัลเบียน” แห่งกองทัพเรืออังกฤษ ที่แล่นเข้าไปในน่านน้ำทะเลจีนใต้ เมื่อปีที่ผ่านมา โดยประเด็นเรื่องการขยายฐานทัพของอังกฤษในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เคยสร้างความวิตกกังวลต่อพญามังกรจีน จนทาง “นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนแผ่นดินใหญ่” จนต้องเอ่ยปากเชิงปรามๆ ต่อ “นายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ” ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาว่า ขอให้ทางอังกฤษอย่าเลือกข้างต่อกรณีพิพาททะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ทางการอังกฤษ คงไม่สนใจต่อการกระตุ้นเตือนของทางการจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าเจ้ากระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ จะให้คำมั่นว่า ลอนดอนจะไม่ทำเยี่ยงนั้น ทั้งนี้ ก็ด้วยการขยายฐานทัพของอังกฤษที่จะมีขึ้นล้วนมีผลต่อธุรกิจการขายอาวุธสงครามของอังกฤษอย่างมหาศาลทีเดียว โดยฐานทัพดังกล่าว นอกจากเป็นเวทีโลกให้ทางการลอนดอนได้แสดงบทบาทระหว่างประเทศแล้ว ก็ยังเป็นเวทีการแสดงแสนยานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของสัญชาติอังกฤษให้โลกได้ประจักษ์กันอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ยุทธศาสตร์นี้จนสามารถรั้งตำแหน่งแชมป์ขายอาวุธสงครามเบอร์หนึ่งของโลกมาหลายสมัย เช่นเดียวกับรัสเซียก็ใช้ยุทธศาสตร์ขยายฐานทัพเข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงการโชว์แสนยานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ผ่านการยุทธ์รุกรบใน “สงครามกลางเมืองซีเรีย” จนพญาหมี สามารถเบียดผู้ดีอังกฤษ ขึ้นแท่นเป็นที่ 2 ชาติผู้จำหน่ายอาวุธ แทนที่ในการจัดอันดับประจำปีครั้งล่าสุด โชคดีที่ออสเตรเลีย สั่งซื้อเรือรบ และอาวุธด้านยุทธนาวี จากอังกฤษ เมื่อช่วงกลางปีที่แล้วจำนวนลอตใหญ่ในประวัติศาสตร์ ด้วยวงเงินมากถึง 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เป็นเหตุให้อังกฤษ ยังรั้งตำแหน่งอันดับ 3 ชาติขายอาวุธโลกเอาไว้ได้ พร้อมกับรักษาตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธของอังกฤษจำนวนหลายร้อยตำแหน่งไม่ให้เกิด “ภาวะตกงาน” อย่างใจหายใจคว่ำ ทหารอังกฤษ ที่เดินทางมาประจำการยังฐานทัพในประเทศบรูไน หนึ่งในฐานทัพของอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับ ฐานทัพของอังกฤษในต่างแดนปัจจุบันมีจำนวน 16 แห่งด้วยกัน โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประจำการ 2 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ และบรูไน แต่นับจากนี้ไปทางการอังกฤษ ต้องการขยายฐานทัพออกไปอีกโดยอาจเป็นที่ออสเตรเลีย แดนจิงโจ้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่ห่างจากทะเลจีนใต้แห่งหนึ่งด้วย