ด้วย รัฐบาลได้มองว่าประเทศไทยมีจุดแข็งสำหรับการเป็นจุดหมายของการจัดงาน เนื่องจากมีความหลากหลายของสถานที่จัดงานในประเทศ ดังนั้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้จุดแข็งของประเทศไทยและอุตสาหกรรมไมซ์ไทยมีอนาคตในระยะยาว จึงเป็นผู้สนับสนุนในการผนึกกำลังระหว่างองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีการจัดงานหรือใช้การจัดงานเป็นกำลังขับเคลื่อนภารกิจองค์กร โดยมีการประสานงานจนได้ภาพใหญ่ของการจัดงานทั้งหมดในระดับประเทศ สามารถนำมาใช้เป็นฐานต่อยอดพัฒนา และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้มีพลังทางเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องมือสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ประเทศไทย  ในฐานะจุดหมายการจัดงานได้อย่างคมชัดมากขึ้น

สร้างและพัฒนาอยู่ 3 ประเด็น

นายพสุ โลหารชุน ประธานกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องสร้างและพัฒนาอยู่ 3 ประเด็นหลัก  ลำดับแรก ลงทุนพัฒนาโครงสร้างและเทคโนโลยี สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ ที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนา Content ที่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์  และสามารถใช้ขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศ  ทั้งสถานที่  ทางธรรมชาติและสถานที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น  หรือ Man-Made Attraction ประการสำคัญที่ตอกย้ำเป็นพิเศษ คือการพัฒนาแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นระดับชาติ  ที่รวบรวมสาระสำคัญสำหรับการจัดงานไว้ในที่เดียว ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศภายในเวลารวดเร็ว เพราะปัจจุบันวิถีชีวิตและเศรษฐกิจในหลายมิติ / กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยแอพพลิเคชั่นต่างๆ

ขณะที่ลำดับถัดมา  คือ เรื่องความรับผิดชอบและความยั่งยืน ที่อุตสาหกรรมไมซ์ไทยต้องแสดงให้เห็นเชิงประจักษ์  ว่าสามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติในการสร้างสรรค์การจัดงาน สามารถใช้เป็นจุดส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย  ลำดับที่สาม  คือความร่วมมือและการสร้างพันธมิตรในอุตสาหกรรมไมซ์  

เดินหน้าทำการตลาดไมซ์เชิงรุก

โดย นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ปี 2568 ทีเส็บเดินหน้าทำการตลาดไมซ์เชิงรุกตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ได้แก่ การพัฒนาตำแหน่งของแบรนด์ประเทศไทย ในฐานะการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง (High Value-Added MICE Destination) โดยสอดแทรก Soft Power ในการยกระดับประสบการณ์ให้กลุ่มนักเดินทางไมซ์ มุ่งใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ เพิ่มการสร้างภาคีเครือข่ายกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างเสถียรภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางของการจัดงานอย่างยั่งยืน และมุ่งดึงงานขนาดใหญ่ที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกที่วัดผลได้จริง รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) อุตสาหกรรมไมซ์ที่ช่วยผลักดันทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันแบบไร้รอยต่อ

 

ซึ่งทางทีเส็บจะพัฒนาระบบและกระบวนการทำงานด้วย Digital Transformation โดยใช้ Big Data และ Streamline Office Operations เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้คล่องตัว ทันสมัย และตอบโจทย์การทำงานในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยกำหนดเป้าหมายสิ้นปีงบประมาณ 2568 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ รวมทั้งสิ้น 34 ล้านคน ทำรายได้ 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 1.4 ล้านคน รายได้ 9.2 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 32.6 ล้านคน รายได้ 1.08 แสนล้านบาท

ปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิตัล

ด้าน นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์  นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงแรมจะต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิตัล ซึ่งเวลานี้สมาชิก THA ประมาณ 80% ได้ปรับใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วงในการทำงาน ซึ่งสุดท้ายสังคมดิจิทัลได้เข้ามาลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก ซึ่งอัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยในปี 2567 จนมาถึงปี 2568 โดอยู่ประมาณ 80% ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ผู้จัดเดินทางเข้ามาในเมืองไทย คือ เชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย และมีการบริการเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ในเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด  โดย THA พยายามรณรงค์ให้โรงแรมตื่นตัวในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากทางยุโรปมีกฎหมายออกมาแล้ว ว่าบริษัทนำเที่ยวที่พากรุ๊ปทัวร์มาพักโรงแรม ถ้าโรงแรมไหนไม่ทำในเรื่องเหล่านี้ เช่น โลว์คาร์บอน, กรีนโฮเต็ล ฯลฯ เขาไม่ให้เข้าพัก และยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย