วันที่ 5 ม.ค.2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. โดยมติที่ประชุมเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยเสียงข้างมาก 312 เสียง ต่อ 84 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการพิจารณาในวาระ2 ที่ประชุมมีข้อถกเถียงต่อประเด็นการแก้ไขของกรรมาธิการ (กมธ.) ในมาตรา 28 ที่เกี่ยวกับสิทธิการอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ที่กำหนดไว้ในธรรมนูญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดย กมธ. ตัดข้อความที่กำหนดให้ต้องทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ออกไป ทำให้สส. ได้ท้วงติงว่าอาจเปิดช่องการรุกล้ำพื้นที่ป่า เพื่อทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย และทำให้เกิดภูเขาหัวโล้น และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งอาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดรัฐที่เป็นเอกเทศในพื้นที่โดยไม่เคารพกฎหมายได้
อย่างไรก็ตามมติของสภาฯ ได้เห็นแย้งกับการแก้ไขของกมธ.และให้กลับไปใช้ข้อความที่มีบทกำหนดให้รัฐธรรมนูญพื้นที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้หลังจากที่สภาฯ เห็นชอบแล้วต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป
ต่อมาเวลา 17.45 น.สส.พรรคภูมิใจไทย(ภท.) นำโดยน.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี โฆษกพรรคภูมิใจไทย นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และสส.ของพรรคภูมิใจไทย กว่า20 คน แถลงคัดค้านภายหลังภายหลังที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ….ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบในวาระ2-3ว่า การลงมติของร่างพ.ร.บ.ฯดังกล่าว ไม่ได้แจ้งมติวิปรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร เพียงแต่ให้แต่ละพรรคการเมืองไปหารือกัน ส่วนสาเหตุที่พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฯฉบับนี้ เนื่องจากร่างฯได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯมา2-3รอบแล้ว มีเนื้อหาที่น่ากังวล อาทิ มาตรา20ว่าด้วยเรื่องของตัวแทนสภาฯที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิ์เป็นตัวแทนของรัฐบาลในการเข้าไปเจรจาด้านต่างๆเกี่ยวกับชาติพันธุ์
รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาในมาตรา27,28,29 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิทำกินในพื้นที่ต่างๆ เรายังแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้อยคำที่กมธ.วิสามัญมีการแก้ไขเรากังวล เนื่องจากมีการละเว้นกฎหมายหลายฉบับ แล้วให้เฉพาะพื้นที่ เปรียบเสมือนยกพื้นที่นั้นให้เป็นเขตปกครองตัวเองด้วยซ้ำ ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยมองว่ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับหลายประเด็นที่เรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับคนไทยทั่วไปได้
“พรรคภูมิใจไทยยืนยันว่าไม่ได้มาแถลงต่อต้าน เราเห็นด้วยในการที่มีกฎหมายคุ้มครองคนไทยทุกคน แต่เราไม่ต้องการให้มีกฎหมายฉบับใดทำให้ใคร หรือคนกลุ่มใดมีสิทธิพิเศษ หรือมีอภิสิทธิ์เหนือคนกลุ่มใด หรือเหนือกว่าคนไทยด้วยกันโดยการละเว้นกฎหมายที่ต้องบังคับใช้ในแต่ละพื้นที่ เรื่องนี้ไม่ใช่การใช้ชีวิตตามวิถี แต่เป็นเรื่องความมั่นคงด้วย พื้นที่ที่เขาพูดถึงกันเรายอมรับว่ามันอยู่ขอบตะเข็บชายแดนทั้งหมดเลย และยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แล้วมันจะสร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างมาตรฐานอีกแบบให้สังคม เราต้องการให้คนไทยทุกคนได้สิทธิเข้าถึง และเป็นธรรมทุกคนจริงๆ” น.ส.แนน บุณย์ธิดา กล่าว