ยกย่องให้เป็นเทรนด์ใหม่ กลายเป็นหนึ่งในกระแสหลักในยุคนี้ ที่ถึงขนาดหลายประเทศ ต้องจัดให้เป็นนโยบายระดับวาระแห่งชาติกันเลยทีเดียว
สำหรับ กระแสของ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” (AI : Artificial Intelligence) นวัตกรรมทางเทคโนโลยีอันสุดล้ำ จากพลังสมองของมนุษย์ที่ประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นมา
โดยระบบเอไอ ก็ถูกนำไปประยุกต์ แทรกปนกับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้งาน ซึ่ง ณ เวลานี้ ก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม จากการที่ระบบเอไอ ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ก็ทำให้มีทั้งการนำไปใช้งานในด้านดี และไม่ดี ปะปนกันหลากหลายรูปแบบ
เรียกได้ว่า มีทั้งคุณอนันต์อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีทั้งโทษมหันต์อย่างน่าสะพรึง สำหรับ ระบบเอไอสะท้านโลกแห่งยุค
โดยในทางคุณอนันต์ ก็มีอุปกรณ์ที่ใช้งานในหลายแขนงด้วยกัน ที่ใช้ระบบเอไอเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพให้ปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น อาทิ
อุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งสามารถช่วยแพทย์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
อุปกรณ์สำหรับจัดส่งพัสดุสิ่งของ ที่ระบบเอไอ สามารถนำพารถส่งของขนาดเล็ก ส่งพัสดุสิ่งของไปถึงจุดหมายได้อย่างแม่นยำ
อุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ที่ระบบเอไอ สามารถทำให้เราทราบสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
ยกตัวอย่างกรณีประเทศอังกฤษ ที่ทางบริษัทตรวจวัดคุณภาพน้ำในแหล่งธรรมชาติบางแห่ง ได้ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดที่มีระบบเอไอติดตั้งเข้ามาใช้งานด้วย เช่น “บริษัท ยูนิฟเอไอ เทคโนโลยี (UnifAI Technology)” หนึ่งในบริษัทที่ทำหน้าที่ตรวจวัดระดับคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของอังกฤษ ก็ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยตรวจวัดระดับคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ที่บริษัทได้รับมอบหมายด้วย
โดยผู้บริหารของ “ยูนิฟเอไอ เทคโนโลยี” ระบุว่า ระบบเอไอที่ทางบริษัทฯ นำมาช่วยงานนั้น สามารถตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำได้แบบเรียลไทม์ หรือ ณ ช่วงเวลานั้นแบบจำเพาะเจาะจงได้อย่างแม่นยำเลยทีเดียว ซึ่งทำให้ทราบว่า น้ำในแหล่งน้ำนั้นๆ ปนเปื้อนสิ่งไม่พึงประสงค์หรือไม่ อันจะส่งผลให้ทางบริษัทฯ สามารถจัดการป้องกันอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากเดิมทางบริษัทฯ ต้องใช้เวลาหลายวันสำหรับการประมวลผลข้อมูลจากน้ำตัวอย่างเพื่อวัดคุณภาพ แต่ด้วยระบบเอไอ ทำให้สามารถป้องกันผู้คนไม่ให้ลงเล่นน้ำ หรือว่ายน้ำ ในแหล่งน้ำที่พบการปนเปื้อนสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น เชื้อแบคทีเรียจำนวนมหาศาล รวมไปถึงค่าความเป็นกรด เป็นด่างของน้ำ ในช่วงเวลานั้นๆ ได้เลย และด้วยระบบเอไอ ทางบริษัทฯ ก็ยังได้ใช้งานสำหรับการประกาศแจ้งเตือนข่าวสารผ่านทางแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือให้แก่ประชาชนรับทราบได้เลยแบบเรียลไทม์เช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มีคุณประโยชน์มากมายขนาดนี้ แต่ก็มีกลุ่มบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง นำระบบเอไออันทรงคุณที่ว่า มาใช้ให้เป็นโทษแก่บุคคลอื่นๆ ราวกับเป็นอาวุธร้ายได้อย่างน่าเป็นกังวล เมื่อได้ระบบเอไอมาช่วยเสริมประสิทธิภาพของพวกเขา
นั่นคื กลุ่มนักเจาะระบบคอมพิวเตอร์ หรือแฮ็กเกอร์ ในหลายประเทศ เช่น จีนแผ่นดินใหญ่ เกาหลีเหนือ อิหร่าน และรัสเซีย ที่มีรายงานข่าวล่าสุด ออกมาระบุเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กลุ่มแฮ็กเกอร์จากบรรดาประเทศเหล่านี้ ได้นำ “เจมิไน (Gemini)” ซึ่งเป็น “โมเดลปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ” ของ “กูเกิล” เว็บไซต์เสิร์ชเอนจินแถวหน้าของโลก และเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไปใช้เสริมเขี้ยวเล็บ ช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพในหลายๆ ปฏิบัติการของเหล่าวายร้ายแฮ็กเกอร์พวกนี้ ในการโจมตีทางไซเบอร์ และจารกรรมข้อมูลต่างๆ ในทางไซเบอร์
กล่าวถึง “เจมิไน” ก็จัดว่าเป็นเอไอประเภทโมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “แอลแอลเอ็ม (LLM : Large Language Model) ซึ่งโมเดลเอไอนี้ ทางกูเกิลได้ดำเนินฝึกฝนและเรียนภาษาของมนุษย์ต่างๆ ด้วยชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เคยมีมาในอดีต นอกจากนี้ ในส่วนของ “เจมิไน” ที่เป็น “เจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI)” ก็ยังสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาจากข้อมูลเดิมได้ด้วย กอปรกับด้วยความที่ “เจมิไน” สามารถใช้งานได้ในทางสาธารณะ ก็ทำให้กลุ่มแฮ็กเกอร์ ใช้เจมิไนที่เป็นเจเนอเรทีฟเอไอข้างต้น มาช่วยเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ จนทำให้พวกเขาใช้ไปในปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ หรือจารกรรม อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากการโจมตีทางไซเบอร์ และจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์แล้ว เหล่าแฮ็กเกอร์ ก็ยังนำไปใช้งานด้านปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (IO : Information Operations) เพื่อประโยชน์ฝ่ายตนและทำลายฝ่ายตรงข้ามได้อีกต่างหากด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางกูเกิล โดย “กลุ่มทำงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของกูเกิล (Google Threat Intelligence Group)” ออกมาบอกว่า ณ เวลานี้ เจมิไน และโมเดลเอไออื่นๆ ยังเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้กลุ่มแฮ็กเกอร์ทำงานแบบเดิมได้รวดเร็วขึ้นและมากขึ้นเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้ระบบเอไอโจมตีทางไซเบอร์ได้โดยตรง แต่ก็ต้องเตรียมการระวังไว้ สำหรับ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจรุนแรงขึ้น จากการที่เทคโนโลยีได้รับการพัฒนา
สำหรับ รายละเอียดที่กลุ่มแฮ็กเกอร์จากจีน เกาหลีเหนือ อิหร่าน และรัสเซีย ใช้ประโยชน์จากเจมิไนในการโจมตีทางไซเบอร์ จนถึงยกให้เป็นภัยคุกคามขั้นสูง หรือเอพีที ทางไซเบอร์หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ในทางการทหาร ระบบการป้องกันประเทศ การพัฒนามัลแวร์ การพัฒนาเทคนิคเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจจับ รวมไปถึงการแปลข้อมูล และการเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลต่างๆ รวมไปถึงการสร้างโค้ดให้มีทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น