สัปดาห์นี้ลานบ้านกลางเมือง"บูรพา โชติช่วง"ชวนไปเที่ยววัดไหว้พระเมืองน่าน คนไทยนิยมเที่ยว ไม่ว่าฤดูไหน เทศกาลใด ขอให้มีวันหยุดยาวเที่ยวหมด หรือแค่วันหยุดสุดสัปดาห์ออกเที่ยวแล้ว ส่วนใครที่ยังอินกับอากาศหนาวๆ ภาคเหนือ ยังสัมผัสได้ โดยเฉพาะ “น่าน..หนาวมาก” ตามวลีห้อยท้ายของโลกออนไลน์เรียกขาน ลานบ้านกลางเมืองถือโอกาสหยิบไกด์บุ๊กเที่ยวท่องส่องวัฒนธรรมมากาง พาไปชมสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วัดวาอาราม ย่านเมืองเก่าน่าน น่าน ศูนย์ใจกลางเมืองที่ยังคงรักษาองค์ประกอบกายภาพของเมืองเก่า วัดวาอาราม อาคารหลังเก่าแก่ เช่น หอคำ หรือ คุ้มหลวง ของเจ้าผู้ครองนครน่านในอดีต ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน อีกศิลปวัฒนธรรม บ้านเรือน วิถีชีวิต และการค้า เสน่ห์ของเมืองเก่าอยู่ที่รอบๆ คุ้มหลวง มีวัดติดวัดราว 26 วัด ให้เดินเที่ยวชมศิลปกรรม ไหว้พระพุทธปฏิมา เป็นต้นว่า วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร (เดิมเรียก วัดหลวง หรือ วัดหลวงกลางเวียง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างหลังจากพญาผากองได้ย้ายเมืองน่านมายังห้วยไคร้) พระวิหารหลวง รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยและล้านนา เจดีย์มีช้างล้อมรอบฐาน คล้ายค้ำยันองค์พระธาตุไว้ อันเป็นที่มาของชื่อองค์พระธาตุ นอกจากนี้มี หอไตร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน หน้าบันใช้แผ่นไม้ ประดับลวดลายปูนปั้นรูปนกล้อพญาครุฑ ข้ามฟากถนน เป็นที่ตั้งวัดภูมินทร์ (อยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องวัดพระธาตุช้างค้ำและคุ้มหลวง) วัดนี้มีชื่อเสียงในเรื่องภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่านย่าม่าน” หรือมักเรียกกัน “หนุ่มกระซิบบันลือโลก” ผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ แต่ความสำคัญของภาพเขียนผนังอยู่ที่เรื่อง คัทธนกุมารชาดก เขียนปี พ.ศ. 2410 - 2417 วัดภูมินทร์เป็นวัดหลวง ตามข้อมูลไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างแน่ชัด มีเพียงพงศาวดารเมืองน่านกล่าว จ.ศ. 1065 (พ.ศ. 2246) มีกองทัพม่าน (พม่า) ได้มาเผาพระพุทธรูปภายในวัดภูมินทร์ องค์ตะวันตก สำหรับพระวิหาร สถาปัตยกรรมมีลักษณะเป็นทรงจัตุรมุข (แห่งเดียวในประเทศไทย) มีรูปปั้นพญานาคราช 2 ตัว ประดับไว้ที่ประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ ส่วนหางโผล่ออกทางประตูทิศใต้ จึงดูมีลักษณะเหมือนพญานาคเทินพระวิหารหลวงไว้บนหลัง มีการสร้างให้พระธาตุเจดีย์เป็นแกนกลางเพื่อรับน้ำหนัก ประดิษฐานพระประธานสี่องค์ หันพระปฤษฎางค์ชนกันผินพระพักตร์ออกไปทั้ง 4 ด้าน คงรูปแบบแต่เดิมมา บริเวณรอบๆ คุ้มหลวง ยังมี วัดมิ่งเมือง ประดิษฐานเสาหลักเมืองน่าน แต่เดิมเรียก “เสามิ่งเมือง” เดิมเป็นไม้สักทองขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นเสาทรงกลม หัวเสาเกลาเป็นดอกบัวตูม ฝังไว้กับพื้นดินโดยตรง ไม่มีศาลหรืออาคารครอบ (เหตุเพราะแต่ก่อนนั้นเมืองน่านไม่มีคติการสร้างเสาหลักเมือง) สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน จากที่ลงไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อาจจะนำคติการสร้างเสาหลักเมืองมาสร้างที่เมืองน่านบ้าง อย่างไรก็ดี ปี 2506 เมืองน่านเกิดน้ำท่วมใหญ่ กระแสน้ำได้เซาะรากโคนเสามิ่งเมืองผุกร่อนโค่นลง จึงได้จำลองเสามิ่งเมืองขึ้นมาไว้ยังตำแหน่งเดิม ส่วนอุโบสถหลังปัจจุบัน เด่นในเรื่องสถาปัตยกรรมรูปทรงล้านนา ประดับด้วยลายปูนปั้น รูปลายไทย เทพเจ้า เทวดา และสัตว์ในวรรณคดีทั้งหลัง นอกจากนี้ มีวัดหัวข่วง วัดมณเฑียร และอีกหลายวัด ตั้งอยู่ร่ายรอบคุ้มหลวง หากต้องการชมวิวทิวทัศน์เมืองน่าน มองมุมสูงแบบตานกมอง (Bird Eyevew) ต้องขึ้นไปวัดพระธาตุเขาน้อย บริเวณลานจุดชมทิวทัศน์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาอุตมมงคลนันทบุรีศรีน่าน พระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ร่ายประวัติวัดและข้อมูลมาพอสังเขป อยากชวนทุกท่านไปเที่ยววัดไหว้พระเมืองน่าน ธรรมนำชีวิตกัน