โคราชปลุกตำนานดินเผาด่านเกวียน กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น จัดถนนวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวสัมผัสแหล่งผลิตเครื่องปั้นระดับโลกใกล้ชิด “ด่านเกวียน” ชื่อของตำบลใน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ถือเป็นเมืองหน้าด่านเรียกว่า “ด่านกระโทก” ดินแดนแห่งอายรธรรมท้องถิ่นโบราณ เส้นทางการค้าทางบกระหว่างนครราชสีมากับชายแดนประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล จึงมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ค้าขายพืชผลทางการเกษตร ยุคอดีตมีกองคาราวานพ่อค้าเกวียนเดินทางไกลมาหยุดพัก ชุมชนจึงถูกเรียกชื่อใหม่ “ด่านเกวียน” ก่อนที่คนไทยจะอพยพเข้าไปตั้งรกรากบริเวณชุมชนด่านเกวียน ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของ “ชาวข่า” คนเชื้อสายมอญ เมื่อมาอยู่รวมกันได้เกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้น ชาวบ้านใช้เวลาว่างจากเกษตรกรรมมาผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ โอ่ง กระถาง ไห ครก รอฝนยา ฯลฯ

รวมทั้งนำบางส่วนที่ผลิตขนขึ้นเกวียนไปค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศกัมพูชา ช่วงปี พ.ศ.2485 ผลจากนโยบายชาตินิยมของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เน้นการสร้างรายได้จากสินค้าท้องถิ่น จึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้แพร่เข้ามาในชุมชนด่านเกวียน โดยผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้น จนชุมชนด่านเกวียนกลายเป็นแหล่งค้าเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงในวงกว้างสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท อาทิ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องใช้ทางการเกษตร ของตกแต่งบ้านและสวน รวมทั้งเครื่องประดับ โดยรูปแบบการผลิตยังคง เอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของด่านเกวียน ทั้งวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิต การปั้น การตกแต่ง ลวดลายและการเผาให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ปัจจุบันการค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนกว่าร้อยละ 90 เป็นการขายส่งผ่านพ่อค้าคนกลางไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งส่งออกไปต่างประเทศ โดยเดินทางมารับซื้อสินค้าถึงหน้าโรงผลิต ผู้ประกอบการส่วนมากเป็นชาวบ้านในพื้นที่ใช้พื้นที่ในครัวเรือนเป็นแหล่งผลิตสินค้า

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการบางรายได้เปิดเป็นหน้าร้านจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจตั้งเรียงกันริมฝั่งถนน 226 ถ.ราชสีมา-โชคชัย นอกจากนี้ ด่านเกวียนยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพผลิตเครื่องปั้นดินเผาควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรม ในปัจจุบันได้เกิดปัญหาวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาหายากและมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งจำนวนช่างลดน้อยลงและขาดการพัฒนารูปแบบของสินค้าให้มีลวดลายที่แปลกใหม่ไปจากของเดิม ทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนไม่ถูกพัฒนาไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงเสี่ยงต่อการสูญหายไปตามกาลเวลา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะภูมิปัญญาของท้องถิ่นควรค่าแก่การอนุรักษ์ จึงเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพทางการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนในพื้นที่ให้มีโอกาสสร้างมูลค่าทางการค้าได้มากยิ่งขึ้น จังหวัดนครราชสีมา มีแนวคิดมุ่งมั่นร่วมแรงร่วมใจ

นายชรินทร์  เปลี่ยนกระโทก นายกเทศบาลตำบล (ทต.) ด่านเกวียน ผู้นำท้องถิ่นมีรความคิดริเริ่มจัดโครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น “วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2568 งานเทศกาลเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ได้จัดวันที่ 10-14 ก.พ นี้ ที่ลานกิจกรรม ทต.ด่านเกวียน ภายงานมีการประกอบพิธีขอขมาบูชาดินเพื่อสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมและความเชื่อของคนในชุมชนที่สืบทอดกันมาพร้อมร่วมแรงร่วมใจปั้นดินเผาเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น ชมกิจกรรมมีการแข่งขันปั้นแจกัน โอ่ง ปติมากรรมลอยตัวและการเพ้นท์สี การจัดสวนถาดเครื่องปั้นดินเผา กิจกรรมประกวดธิดาดินจำแลง การจัดบูธเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนและหน่วยงานราชการ พาเที่ยวชมวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในหมู่บ้านโดยรถรางนำเที่ยว แข่งขันหุงข้าวหม้อดิน

ผัดหมี่ แข่งขันตำส้มตำ แข่งขันทำขนมครก การออกบูธจำหน่ายสินค้าโอท็อปและการแสดงของนักเรียนและชาวบ้าน และทุกค่ำดินสนุกสนานกับวงดนตรี ศิลปินเต็มวงแสงสีเสียง อลังการ ตลอดทั้ง 5 วัน 5 คืน คาดเงินสะพัดในท้องถิ่นร่วม 5 ล้านบาท

ทั้งนี้เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนได้ยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์สมัยใหม่และรับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เนื่องจากมีความโดดเด่นด้วยตัวสินค้าที่มีความแข็งแกร่งทนทานและสวยงามด้านเอกลักษณ์และรูปแบบงานปั้นที่มีความหลากหลายกำลังเป็นสินค้าที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ