กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การันตีโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้จริง พร้อมยกอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นต้นแบบความสำเร็จในการส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ใช้ความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐส่งเสริมการผลิตข้าวโพดที่มีคุณภาพให้เกษตรกร ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,810 บาท/ไร่ ราคารับซื้อกิโลกรัมละ 7-8 บาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ยไร่ละ 8,365 บาทและเมื่อหักต้นทุนแล้วเกษตรกรจะมีกำไรเฉลี่ย 4,555 บาท/ไร่ วันนี้ (5 ม.ค.62) นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดภายในประเทศ และช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีรายได้ที่มั่นคง โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ที่ตลาดมีความต้องการ ซึ่งในช่วงระยะแรกของการดำเนินโครงการได้ทดลองส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง ในอำเภอพิชัย อุตรดิตถ์ โดยมีสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโรงหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโคกหม้อ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรพิชัย จำกัด เข้าร่วมโครงการจำนวน 206 ราย พื้นที่ปลูก 3,025 ไร่ เริ่มปลูกข้าวโพดตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์วงเงิน 10.3 ล้านบาทให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการกู้ยืมไปจัดหาปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิกและเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อรวบรวมผลผลิตเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาของการเพาะปลูกข้าวโพด จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ ร่วมกันลงพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดความรู้การปลูกข้าวโพด การดูแลรักษา การลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตให้เพิ่มขึ้น รวมถึงร่วมวางแผนการตลาดกับสหกรณ์ทั้ง 4 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพและส่งข้าวโพดให้กับโรงงานอาหารสัตว์ในพื้นที่ และขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่นำร่องดังกล่าวได้ทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังใช้ระยะเวลาในการปลูกข้าวโพดประมาณ 4 เดือน รวบรวมผลผลิตแล้ว 3,888.60 ตัน ซึ่งผลผลิตทั้งหมดสหกรณ์จะรับซื้อทั้งหมดเพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพส่งขายให้กับพ่อค้าเอกชนในพื้นที่และสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด ซึ่งเป็นแม่ข่ายในการรับซื้อผลผลิตจากทั้ง 4 สหกรณ์ เพื่อส่งจำหน่ายให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ของบริษัท CPF และบริษัท เบทาโกร นายพิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาในพื้นที่นำร่อง พบว่าต้นทุนในการปลูกข้าวโพดเฉลี่ย 3,810 บาท/ไร่ ผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม/ไร่ ราคารับซื้อข้าวโพดความชื้น 27-30 % อยู่ที่ 7-8 บาท/กิโลกรัม และเกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวโพดเฉลี่ย 8,365 บาท/ไร่ และเมื่อหักต้นทุนแล้วเกษตรกรจะมีกำไรเฉลี่ย 4,555 บาท/ไร่ และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะลงพื้นที่ติดตามผลความก้าวหน้าการดำเนินโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาในพื้นที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์และร่วมเก็บเกี่ยวผลผลิตกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพื้นที่นำร่อง ในวันที่ 9 ม.ค.62 นี้ ด้าน นายณรงค์ วงศ์ธรรมสรณ์ ผู้อำนวยการจัดซื้อและสำรวจวัตถุดิบ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่และเตรียมพร้อมที่จะเข้าไปรับซื้อข้าวโพดหลังนาของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์อย่างไม่จำกัด เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในประเทศมีความขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์อีกจำนวนมากแต่ละปีมีความต้องการ โดยที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ประมาณ 5 ล้านตัน มีความต้องการถึงประมาณ 8 ล้านตัน จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้จะมีการนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศบางส่วนแล้วก็ยังมีความขาดแคลนอยู่อีก1.4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่บริษัทฯเองก็มีความต้องการจำนวน 800,000- 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนต้องหาวัตถุดิบอื่นๆมาเพิ่ม อาทิ ข้าวสาลี ปลายข้าว ดังนั้นโครงการข้าวโพดหลังนาของรัฐบาลตลาดยังมีอนาคตอีกยาวไกลเกษตรกรไม่ต้องกังวลเรื่องผลผลิตไม่ได้ราคาหรือล้นตลาด คาดว่า ผลผลิตที่จะออกตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปนั้นจะไม่ต่ำกว่า 9 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ที่สำคัญข้าวโพดถือเป็นพืชเงินสด โดยขายแล้ว เกษตรกรได้รับเงินสดทันที จึงทำให้ชาวนาสนใจร่วมโครงการมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา “บริษัท เบทาโก ได้ร่วมดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าวมาแล้ว 2 ปีคือ ในปี 2559 รับซื้อผลิตจำนวน 60,000 ตัน ปี 2560 รับซื้อจำนวน 25,000 ตันที่ลดลงจากปี 2559 เพราะราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เกษตรกรมีตัวเลือกในการจำหน่ายมากในตลาดที่หลากหลายขึ้น ส่วนปี 2561 รับซื้อไม่จำกัดจนกว่าจะเพียงพอและยังมีความต้องการข้าวโพดสำหรับผลิตอาหารสัตว์อีกจำนวนมาก”นายณรงค์ กล่าว นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โครงการได้กำหนดให้มีการทำความตกลงกับผู้รับซื้อ และหาตลาดให้แก่เกษตรกร โดยรับซื้อตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ที่ความชื้น 14.5% สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่เป็นจุดรวบรวมและรับซื้อผลผลิต เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 2 จึงพิจารณาจากราคาช่วง มกราคม–มิถุนายน เป็นหลัก โดยราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 ความชื้น 14.5% ช่วงนี้ของปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.29 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2560/61 อยู่ที่ 4,624.53 บาท/ไร่ ทั้งนี้หากเกษตรกรดูแลข้าวโพดให้มีผลผลิตต่อไร่มากขึ้น ต้นทุนจะลดลง และในปีนี้ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการกำหนดจุดรับซื้อ โดยวางระบบให้สหกรณ์การเกษตรเป็นหน่วยธุรกิจขับเคลื่อนหลักในการดำเนินโครงการ ตั้งจุดรับซื้อทั้งหมด 324 จุด แบ่งเป็นจุดรับซื้อของสหกรณ์ 292 จุด และจุดรับซื้อของเอกชน 32 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 386 อำเภอ ใน 37 จังหวัด