กทม.จัดตั้งศูนย์กำกับผลกระทบ PM2.5 พิจารณาประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษรายเขต
วันที่ 4 ก.พ.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษแต่ละเขตในกรุงเทพมหานครว่า เป็นอำนาจของผู้อำนวยการเขต มีการประกาศไปแล้ว 14 เขต เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เช่น เขตลาดกระบัง หนองจอก บางกอกใหญ่ ทวีวัฒนา โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 28/1 ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เช่น การเผา ควันรถ และแหล่งกำเนิดฝุ่นต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม เช่น พื้นที่รกร้าง ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center: EOC) เพื่อกำกับเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ควบคู่ด้วย
นอกจากนี้ กทม.ยังมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่นทุกเขต นอกเหนือจากการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานที่ผลิตคอนกรีตสำเร็จรูป และตรวจควันรถต่าง ๆ แล้ว มีการขยายการตรวจเพิ่มเติม เช่น โรงงานที่มีการเผาไหม้ วัดที่มีเตาเผาศพประมาณ 308 แห่ง ไม่ผ่านมาตรฐาน 4-5 แห่ง ไม่ได้ใช้งานแล้วประมาณ 17 แห่ง ซึ่งการใช้มาตรการลดฝุ่นบางเรื่องต้องใช้การขอความร่วมมือ ไม่ได้ใช้กฎหมายบังคับ เพราะเป็นพิธีกรรมสืบต่อกันมา แต่จากการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี เช่น ศาลเจ้าที่จดทะเบียนกับ กทม. ประมาณ 104 ศาลเจ้า มี 19 ศาลเจ้างดการเผา ส่วนที่เหลือใช้วิธีรีบดับควันธูปเทียน หรืองดเผาในวันที่มีสภาพอากาศปิด
นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.มีศูนย์กำกับเรื่องผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 อยู่แล้ว มีการแจกหน้ากากอนามัยไปแล้วประมาณ 450,000 ชิ้น การดำเนินการของศูนย์ฯ ดังกล่าวจากนี้จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาพื้นที่เขตเฝ้าระวังและพื้นที่ควบคุม หากมีการประกาศเขตควบคุมของกรุงเทพมหานคร จะมีการขอความร่วมมือ Work from Hom (WFH) จากภาคเอกชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง ซึ่งจะมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย คาดว่าสัปดาห์นี้จะสรุปรายชื่อเขตที่ต้องประกาศควบคุมมลพิษและเฝ้าระวังเพิ่มเติม
ด้านรายงานจากคลินิกมลพิษทางอากาศของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง พบว่า มีผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากฝุ่นเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงที่มีค่าฝุ่นปกติ โดยโรคหลักที่พบคือ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ โรคตาอักเสบ โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ตามลำดับ
#ข่าววันนี้ #กทม #มลพิษ #PM25 #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์