“เลขา สมช.” แถลงผลประชุมเปิดหลักฐานคอลเซ็นเตอร์ - อาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน พร้อมส่งต่อให้ มท.-กฟภ. พิจารณาตัดไฟ ตั้ง คกก. ตรวจสอบไทย-เมียนมา ลงพื้นที่จริง ประสาน กต.คุยเมียนมา กำชับดูบริษัทคู่สัญญา ด้าน รองผู้ว่าฯ กฟภ. เล็งไม่ต่อสัญญาจุดที่ทำความผิด

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายฉัตรชัย บางชวด เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติพร้อมด้วย นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมแถลงผลการประชุมสภความมั่นคงแห่งชาติ สืบเนื่องจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

โดยนายฉัตรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางสมช.มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว และติดตามสถานการณ์ตามลำดับ และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ ได้หารือระหว่างการไฟฟ้ากับ สมช. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดแนวทาง โดยมีการประมวลข้อมูลด้านความมั่นคง ที่จะส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ 

“วันนี้มีการตรวจสอบข้อมูลสำคัญที่จะส่งให้การไฟฟ้ากระทรวงมหาดไทย ได้แก่ 1.ข้อมูลด้านความมั่นคงเกี่ยวกับพื้นที่จุดต่างๆ ที่เชื่อได้ว่าเป็นจุดที่มีความเสี่ยง หรือเชื่อได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งแม่สาย เมียว พญาตองซู 2.พบว่ามีการเชื่อมโยงกับบุคคลในบริษัทสัมปทานกับกลุ่มที่เป็นบริษัทแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลาย มีความเกี่ยวพันกันด้วยระดับหนึ่ง อาจเชื่อมโยงถึงการจำหน่ายไฟในเมียนมา 3.พบว่ามีข้อมูลการใช้ไฟมากกว่าปกติ มีการขอใช้ไฟมากกว่าปกติ แต่เราไม่ได้อนุมัติไป และไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะเอาไปทำอะไร ซึ่งมีความพยายามอยู่ในช่วงที่ผ่านมา 4.ที่ผ่านมารัฐบาลไทย และการไฟฟ้าเอง ก็เคยมีการตัดไฟไปแล้วที่ชเวก๊กโก่ กับเคเคปาร์ค แต่ยังสามารถประกอบกิจการได้ อาจเป็นเรื่องการใช้น้ำมันปั่นไฟหรือไม่ ซึ่งเราต้องไปดู แม้มีการตัดไฟไปแล้ว แต่ยังสามารถดำเนินกิจการได้ในระดับหนึ่ง 5.เห็นว่าสัดส่วนการใช้ไฟเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาว่าในแต่ละจุดเป็นอย่างไร เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย 6.จุดที่เคยตัดไฟไปแล้ว พบหลักฐานว่าอาจมีการเชื่อมโยงการเปิดเส้นทางใหม่ เพื่อเอาไฟจากจุดอื่นที่เราจ่ายไฟไปสู่จุดที่เราเคยตัดไฟไปแล้ว ซึ่งก็ ปรากฏข้อมูลบางส่วน”


นายฉัตรชัย กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ สมช.จะส่งข้อมูลไปยังกระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้า ประกอบการพิจารณาตามกระบวนการตามกฏหมาย และตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเงื่อนไขสัญญาที่กำหนดไว้ที่จะดำเนินการกับบริษัทคู่สัญญา ที่ประชุมมีมติ 3 เรื่อง ได้แก่ สมช. จะประมวลข้อมูลด้านความมั่นคงส่งไปยังการไฟฟ้า เพื่อประกอบการพิจารณาให้การไฟฟ้านำข้อมูลส่วนนี้ไปเจรจากับบริษัทคู่สัญญา เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม ให้เป็นไปตามหลักของสัญญาตั้งแต่มาตรการจากเบาไปหาหนัก ในการพิจารณาเรื่องการจ่ายไฟให้เหมาะสม และล่าสุดทางการไฟฟ้ามีการทำงานเชิงรุกคือแจ้งบริษัทคู่สัญญาไปบ้างแล้วว่าเรามีความกังวลต่อพื้นที่ดังกล่าว ที่ใช้ไฟไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามสัญญา ทางการไฟฟ้ามีหนังสือแจ้งไปแล้ว และมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศประสาน รัฐบาลเมียนมา ในการไปร่วมกำชับบริษัทคู่สัญญา ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลเมียนมาอนุมัติให้มาสัมปทานกับการไฟฟ้าของไทย มาช่วยดูตรงนี้ เพื่อช่วยดูว่าตรงไหนขายไฟไม่เหมาะสม และผิดกฎหมาย รวมทั้งขอให้มีคณะทำงานคณะตรวจสอบร่วมกับฝั่งไทยและเมียนมา ชุดไหนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เพื่อให้ปรากฏหลักฐานชัดเจนและเห็นชอบตรงกันทั้งสองฝ่าย ทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการการแก้ไขปัญหาทั้ง 5 จุด และจะมี 3 พื้นที่หลักคือ ท่าขี้เหล็ก แม่สาย แม่สอด เมียวดี และพญาตองซู และบางจุดอาจจะมีจุดย่อยตามสะพานมิตรภาพต่าง ๆ 

สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ที่ประชุมเห็นชอบว่าการจำหน่ายไฟฟ้าต้องย้อนดูมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2537 และ 2539 ก็มีการอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถจำหน่ายไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเห็นในเรื่องของการค้าชายแดน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเรื่องมนุษยธรรม เพื่อให้ประชาชนบริเวณพื้นที่ชายแดน มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป มีกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไปใช้พื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไทยต้องร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาร่วมกัน และ สมช. จะประเมินสถานการณ์ภาพใหญ่ว่ามีจุดไหนที่มีลักษณะใกล้เคียงแบบนี้บ้าง เพื่อทบทวนกำหนดนโยบายที่เหมาะสม และจะนำประสบการณ์ปัญหาที่เราพบเจอ ประกอบการพิจารณาด้วย ว่าจะปรับแก้นโยบายหลักเกณฑ์เงื่อนไขอย่างไรให้เหมาะสม และจะนำเสนอ สมช. ในภาพใหญ่ แล้วทั้งหมดนี้จะสรุปผลการประชุมให้แก่นายภูมิธรรม ด้วย เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป แล้วจะส่งให้เร็วที่สุด

นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการจากเบาไปหาหนัก ขึ้นอยู่กับการไฟฟ้าซึ่งต้องดูว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เช่น หากมีการงดจ่ายไฟ จะทำอย่างไร ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบการไฟฟ้า และสัญญาที่เขียนไว้ แต่ทั้งหมดคำนึงถึงผลกระทบประชาชน  และก่อนหน้านี้ไม่ใช่การโยนกันไปโยนกันมา เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ซึ่งเรื่องข้อกฎหมายสำคัญ กระบวนการทำงานในยุคปัจจุบันต้องมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน

เมื่อถามว่าจากข้อมูลที่ฝ่ายไทยมีทั้ง 5 จุดสามารถตัดสินใจตัดไฟได้เลยหรือไม่ นายฉัตรชัย ย้ำว่า เป็นข้อมูลที่ปรากฏในระดับหนึ่ง รายละเอียดคู่สัญญาแต่ต้องมีการพูดคุยกับบริษัทคู่สัญญาด้วย แต่ถ้าจะให้ชัดมาก ๆ ต้องมีคณะไปตรวจสอบให้ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนก่อน ฉันเชื่อว่าทำเนียนมาก็ต้องการแก้ปัญหานี้เช่นกัน

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทที่ได้สัมปทานจากประเทศเมียนมา ในพื้นที่ท่าขี้เหล็กมี 1 บริษัท พื้นที่แม่สอดมี 2 บริษัท และที่พญาตองซู 1 บริษัท ซึ่งทั้งหมดมีประมาณ 4 บริษัท และข้อมูลด้านความมั่นคงที่ได้รับมาก็เป็นประโยชน์ ที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะนำไปใช้ต่อไป พร้อมย้ำว่า หากพบว่าผิดกฎหมายก็สามารถตัดไฟได้ แต่กระบวนการต่าง ๆ ต้องรอบคอบ และครอบคลุม ซึ่งจะต้องทำให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยในคู่สัญญาระบุเอาไว้ว่าหากนำไฟไปใช้ที่กระทบกับเรื่องความมั่นคง จะถือว่าผิดสัญญา จึงมาถึงที่ประชุมกับ สมช. และหากเป็นการงดจ่ายไฟในระดับประเทศอย่างไรก็ต้องเข้า ครม.