วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายอธึก คล้ายสังข์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินคดีค้ามนุษย์ที่มีลักษณะคาบเกี่ยวกับความผิดฐานบังคับใช้แรงงานที่ดำเนินคดีในศาลแรงงาน และการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในคดีบังคับใช้แรงงาน ซึ่งสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2568
โดยมีพนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์(ปคม.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.), สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพฯ พื้นที่ 9 – 10 รวมจำนวน 60 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ ทั้งจากด้านการดำเนินคดีค้ามนุษย์และคดีแรงงาน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันเพิ่มประสิทธิภารการดำเนินคดีและคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายต่อไป
ทั้งนี้ นายอธึก กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแทรกซึมไปยังห่วงโซ่อุปทานในทุกภาคส่วน ส่งผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้เสียหาย ทำลายภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศ นอกจากนี้ปัญหาการค้ามนุษย์ยังมีบริบทที่เกี่ยวข้องกับความผิดอื่นๆ รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการประสานความร่วมมือจากผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเข้าใจในกฎหมาย แนวปฏิบัติ และแสวงหาแนวทางแก้ไขข้อขัดข้องอย่างบูรณาการ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้พนักงานอัยการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้และทักษะ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน โดยเชื่อมั่นว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินคดี คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย และอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง
ด้าน นางจตุพร แสงหิรัญ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ กล่าวต่อว่า การค้ามนุษย์ในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการประมง โดยนายทุนต่างแสวงหาวิธีลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อหวังผลกำไรจากการประกอบธุรกิจให้มากที่สุด จึงใช้วิธีการต่างๆ เพื่อชักจูงผู้ใช้แรงงาน ทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นเข้ามาทำงานในภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้ รวมถึงถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และสภาพการทำงาน ซึ่งขัดต่อสิทธิของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานและยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อีกด้วย
ซึ่งความเกี่ยวพันกันระหว่างคดีค้ามนุษย์และคดีแรงงาน ส่งผลให้เกิดประเด็นข้อท้าทายสำหรับผู้บังคับใช้กฎหมายในการปฏิบัติงาน เช่น กระบวนการไกล่เกลี่ย ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือการเบิกความของพยานในชั้นศาลแรงงาน อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในภายหลัง เป็นต้น สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ให้กับพนักงานอัยการและผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ขึ้นตามแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
ขณะที่ นางสุกัญญา รัตนนาคินทร์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ กล่าวถึงรายละเอียดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ เพื่อเพิ่มทักษะพนักงานอัยการและผู้บังคับใช้กฎหมาย ในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ที่มีลักษณะคาบเกี่ยวกับความผิดฐานบังคับใช้แรงงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายจากหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างแนวทางการปฏิบัติงานระหว่างการดำเนินคดีค้ามนุษย์และคดีบังคับใช้แรงงานให้มีความสอดคล้องกัน และเพื่อตระหนักถึงความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีแรงงาน และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายในคดีต้ามนุษย์ และสร้างแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ