ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง พระเมรุมาศที่สร้างขึ้นในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ การจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ มีกรมศิลปากรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการแถลงข่าวไปเมื่อเร็วๆ นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยการออกแบบพระเมรุมาศครั้งนี้มีสำนักสถาปัตยกรรมดำเนินการออกแบบยึดหลักแนวคิด ดังนี้ 1.ออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 2. ศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 3. ศึกษาและออกแบบโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนา และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมติเทพ ตามระบอบเทวนิยม งานสถาปัตยกรรมแบ่งอาคารออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารในมณฑลพิธี ณ ท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระเมรุมาศ เป็นประธานในมณฑลพิธี ออกแบบโดยยึดถือคติตามโบราณราชประเพณี รูปแบบเฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง 50.49 เมตร มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 60 เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นสูง มี 3 ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ประกอบด้วยซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอด นับรวมได้ 9 ยอด พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ขนาดกว้าง 44.50 เมตร ยาว 155 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ สำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี และเป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้า โดยเตรียมพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมพระราชพิธีประมาณ 2,800 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมี ศาลาลูกขุน เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ ทับเกษตร ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธี พักและฟังสวดพระอภิธรรม ทิม สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและทำเป็นห้องสุขา กลุ่มอาคารนอกมณฑลพิธี ได้แก่ เกยลา บริเวณกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และพลับพลายกหน้ามณฑลพิธี ท้องสนามหลวง การออกแบบภูมิทัศน์ มีการศึกษาเรื่องราวพระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นข้อมูลในการคิดออกแบบสร้างสรรค์ในแต่ละส่วนพื้นที่รอบมณฑลพิธี โดยรอบพระเมรุมาศ มีการสร้างสระน้ำบริเวณ 4 มุม และได้จำลอง กังหันชัยพัฒนา เครื่องดันน้ำ ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริ ในการออกแบบภูมิทัศน์ งานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วย งานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพาน ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ งานเขียนฉากบังเพลิง และจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องราวตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้ การจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ รวมถึงการจัดสร้างพระโกศจันทน์ การจัดสร้างพระโกศพระบรมอัฐิ จำนวน 6 พระโกศ ประกอบด้วย พระโกศหลัก 1 พระโกศ พระโกศรอง 5 พระโกศ การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยานทุกองค์ และพระยานมาศ ที่จะใช้ในขบวนพระอิสริยยศในพระราชพิธีฯ โดยกรมศิลปากรดำเนินงานบูรณะ ซ่อมแซม และอนุรักษ์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และงานตกแต่ง งานประดับส่วนต่างๆ ที่เป็นงานประณีตศิลปกรรม กรมสรรพาวุธทหารบก และกรมอู่ทหารเรือ จะดำเนินการศึกษา ตรวจสอบสภาพโครงสร้างของราชรถ ราชยาน ระบบกลไก การเคลื่อนที่ การชักลาก ให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยทุกส่วนของการดำเนินงานทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560