ถูกยกให้เป็น “ฮีโร่เอไอ” เพียงช่วงข้ามคืน ในฐานะโมเดลระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ โอเพนซอร์ซ จากฝั่งจีน ที่เอาชนะโมเดลระบบเอไอของทางฟากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกยกให้เป็นพี่เบิ้มใหญ่ในเทคโนโลยีด้านนี้ เมื่อปีสองปีก่อน
อย่าง “แชทจีพีที (ChatGPT)” ของทางฝั่งสหรัฐฯ ที่เมื่อราว 2 ปีก่อน เข้ามาสู่แวดวงปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ในลักษณะที่หลายคนเรียกว่า “บุกจู่โจม” กันเลยทีเดียว
ถึงขนาดทำให้เกิดคำถามต่างๆ มากมาย ทั้งในส่วนของคุณประโยชน์ และโทษของมัน อันรวมไปถึงด้านจริยธรรมที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหา เป็นผลกระทบตามมา
นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องของความเป็นคู่แข่ง คู่ประชัน ทางเทคโนโลยีด้านโมเดลปัญญาประดิษฐ์นี้ว่าจะปัญหาอะไรให้กับจีนหรือไม่?
โดยที่ผ่านมา ในระหว่างที่ “แชทจีพีที” ครองความเป็นเจ้าตลาดโมเดลเอไอ ชนิดที่มีคำถามอะไรมา ก็มีคำตอบให้ได้ แม้มีหลายส่วนจะให้ข้อมูลผิดพลาดจากความเป็นจริงไปไม่น้อยเหมือนกัน
ขณะที่ ทางฟากจีน ก็ได้มีความพยายามที่พัฒนาโมเดลเอไอเพื่อใช้งานขึ้น เช่น เออร์นี (Ernie) แชทบอตในเครือของไป่ตู้ (Baidu) หรืออย่างเทนเซ็นต์ (Tencent) และไบทแดนซ์ (ByteDance) เจ้าของแอปพลิเคชันติ๊กต็อก (TikTok) ชื่อดังเป็นอาทิ แต่ปรากฏว่า ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานสักเท่าไหร่ เพราะประสิทธิภาพยังทำได้ไม่ดีเท่าแชทจีพีที
ทว่า ผ่านไปราว 2 ปี โมเดลเอไอจากจีน ก็ได้เขย่าวงการนี้ จนสร้างความสั่นสะเทือนกันไปทั่ว เมื่อ “ดีพซีค (DeepSeek)” บริษัทเทคโนโลยีจากจีน ได้เปิดตัว ดีพซีค-วี3 (DeepSeek-V3) โมเดลเอไอรุ่นใหม่ เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นแอปพลิเคชันยอดฮิตอันดับ 1 แซงหน้าแชทจีพีที
พลันที่ “ดีพซีค-วี3”ปรากฏโฉม ก็เขย่าวงการตลาดหลักทรัพย์หุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยทันที เช่น หุ้นของเอ็นวิเดีย (Nvidia) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ ที่ปรากฏว่า มูลค่าทรัพย์สินวูบลงทันทีเบ็ดเสร็จก็เกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยเมื่อกล่าวถึงบริษัท “เอ็นวิเดีย” ก็มีรายงานว่า “ดีพซีค” ของจีน ใช้เซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ของเอ็นวิเดีย เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับการประดิษฐ์และพัฒนาโมเดลเอไอเขย่าโลกรุ่นนี้ด้วย ซึ่งรายงานระบุว่า “เหลียง เหวินเฟิง” ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ “ดีพซีค” วัย 40 ปี ที่กล่าวกันว่าเป็นผู้หลงใหลต่อระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เป็นอย่างมาก ได้อาศัยความเป็นนักเทรด หรือนักค้าค่าเงิน ที่ประมาณการสถานการณ์ต่างๆ ได้ของตน มาเร่งระดมซื้อชิปของเอ็นวิเดียอย่างขนานใหญ่จำนวนหลายหมื่นชิ้น ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ สมัยนั้น จะมีคำสั่งห้ามส่งออกชิปมายังจีน เพื่อสกัดการพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัย รวมไปถึงระบบเอไอของจีน ในการแข่งขันกับสหรัฐฯ
ใช่แต่เท่านั้น ยังมีรายงานด้วยว่า แม้เมื่อถูกสหรัฐฯ สั่งห้ามส่งออกชิปมายังจีนแล้ว ก็ยังมีการซื้อขายชิปผ่านประเทศที่ 3 เพื่อหลีกเลี่ยงคำสั่งห้ามข้างต้นอีกเป็นจำนวนมากกันอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่นับว่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือค่าใช้จ่ายในการประดิษฐ์และพัฒนาโมเดลเอไอของดีพซีค-วี3รุ่นนี้ คือ มีราคาต้นทุนที่ถูกกว่าของแชทจีพีทีอย่างมากมายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปรากฏ่า ได้โมเดลเอไอ ที่ทางดีพซีคอ้างว่า ประสิทธิภาพดีกว่า รวดเร็วกว่าของแชทจีพีที แม้ว่ายังคงมีคำถามเกี่ยวกับความเสถียร หรือคำตอบในบางเรื่อง หากมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับประเทศจีนก็ตาม
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความสงสัยในเรื่องความเสถียรของดีพซีค-วี3 แต่โมเดลเอไอรุ่นนี้ ก็สร้างความสั่นสะเทือนในโลกเทคโนโลยีอันล้ำสมัย อย่างซิลิคอนวัลเลย์ ที่ออกมาตกตะลึงกับนวัตกรรมโมเดลเอไอสายพันธุ์แดนมังกรเวอร์ชันนี้เหมือนกัน รวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ สูงวัยรายนี้ ที่ถึงกับเอ่ยปากว่า เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการเอไอของสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน
ทว่า การปรากฏโฉมของ “ดีพซีค-วี3” ก็สร้างข้อกังขาในเรื่องของความเป็นภัยด้านความมั่นคงของประเทศได้หรือไม่?
เริ่มจาก “กองทัพเรือสหรัฐฯ” ที่หน่วยนาวิกโยธิน ประกาศแจ้งเตือนให้กำลังพลหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของดีพซีค ไม่ว่าจะการใช้ในงานที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ หรือใช้ในงานส่วนตัวก็ตาม เนื่องจากทางกองทัพเรือ มีความวิตกังวลเรื่องความปลอดภัยและจริยธรรมที่อาจจะได้รับผลกระทบขึ้นได้
นอกจากทางกองทัพแล้ว ในการบริหารปกครองระดับท้องถิ่นในสหรัฐฯ อย่าง “รัฐเทกซัส” โดยผู้ว่าการรัฐ ก็ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารห้ามการใช้งานเทคโนโลยีเอไอโมเดลของ “ดีพซีค” กันไปเลย
ทั้งนี้ นอกจาก “ดีพซีค” แล้ว ปรากฏว่า “เสี่ยวหงชู” แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียสัญชาติจีน ก็พลอยถูกหางเลขไปด้วย คือ กลายเป็นของต้องห้าม หรือถูกแบน (Ban) จากรัฐเทกซัสด้วยเช่นกัน โดยห้ามนำมาติดตั้งบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นทรัพย์สินหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเทกซัสนี้เป็นอันขาด
ข้ออ้างของคำสั่งห้ามข้างต้น ก็คือ แอปพลิเคชันสัญชาติจีนเหล่านี้ ถ้าหากแทรกซึมเข้ามาสู่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ก็อาจจะกลายว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้ มารวบรวมข้อมูลต่างๆ ของประชาชนชาวอเมริกัน ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามโดยอิทธพลต่างชาติที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ได้มีชาวรัฐเทกซัสจำนวนหนึ่ง แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำสั่งห้ามข้างต้น พร้อมทั้งระบุด้วยว่า จะใช้งานโมเดลเอไอดีพซีค และแอปฯ เสี่ยงหงชู ต่อไป
ส่วนคำสั่งห้ามระดับประเทศนั้น ก็เริ่มจาก “อิตาลี” ประเทศในภูมิภาคยุโรป ที่ปรากฏว่า “หน่วยคุ้มครองข้อมูลของอิตาลี หรือจารานเต มีคำสั่งให้บริษัทสตาร์ทอัพดีพซีค ยุติการให้บริการในอิตาลี โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากทางดีพซีค ล้มเหลวที่จะให้คำตอบเกี่ยวกับนโยบายการดูแลความเป็นส่วนตัว เมื่อเป็นดังนี้ ทางจารานเต จึงให้ดีพซีคยุติการให้บริการไป เพราะกังวลปัญหาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในอิตาลี
เช่นเดียวกับที่ “ไต้หวัน” ประเทศคู่ปรปักษ์ของจีนแผ่นดินใหญ่ ก็มีคำสั่งห้ามหน่วยงานภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในไต้หวัน ใช้ดีพซีค เพราะหวั่นเกรงว่า จะทำให้ข้อมูลรั่วไหล และอาจจะส่งผลเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศได้
บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การแบนดีพซีคน่าจะไม่ยุติแต่เพียงเท่านี้ แต่อาจจะมีหน่วยงาน หรือรัฐ ตลอดจนประเทศอื่นๆ ออกคำสั่งห้ามตามมาอีกเป็นระยๆ ด้วยข้ออ้างเหตุผลข้างต้น