วันที่ 3 ก.พ.68 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาหัวข้อ Future Thailand: Future Education ในงาน Chula Thailand Presidents Summit 2025 จุฬาฯ เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรชั้นนำสู่อนาคตประเทศไทย ว่า ในด้านการศึกษาของประเทศไทยในอนาคตจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมองว่าปัจจุบันการศึกษาไม่ใช่การให้ความรู้ ความคิด และสร้างอาชีพแล้ว แต่การศึกษาคือการสร้างคน เป้าหมายวันนี้คือการสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น โดยภาพรวมควรมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องหลักคือ บทบาทการสอน ภายใต้การตั้งคำถามว่า ทำไม เนื่องจากการศึกษาคือปัญญา เป็นรากฐานของเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง เมื่อเข้าร้านเคเอฟซี แมคโดนัล นอกจากความอร่อยแล้วรู้สึกอะไรบ้าง เห็นหรือไม่ว่าอเมริกาใช้คนทั่วโลกทำงานให้ แล้วนำเงินเข้าประเทศตัวเอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีอำนาจ เนื่องจากอเมริกามีเศรษฐกิจที่ดี หากมองลึกลงไปเศรษฐกิจที่ดีเกิดจากธุรกิจ และธุรกิจก็เกิดจากการศึกษานั่นเอง
ดังนั้น การศึกษาไทยต้องสร้างผู้นำให้โลกหันมามองบ้าง ไม่เป็นผู้ตามอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการใช้คนทำงานระดับโลก หรือการขายสินค้าทั่วโลก รูปแบบการศึกษาจึงต้องทำให้คนมองการณ์ไกลและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง การตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องให้มิชลิน (ต่างชาติ) มาบอกว่าอาหารของเราร้านไหนอร่อย แล้วเราก็ทำตามและจ่ายตังค์โดยไม่รู้สึกอะไรเลย ปัญหาของการศึกษาคือ ยังไม่ทำให้คนรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น นี่คือรากฐานของปัญญา จึงอยากบอกนิสิตนักศึกษาว่า จงอย่ายอม จงสร้างขึ้นมาเองบ้าง
เรื่องต่อมาคือบทบาทของมหาวิทยาลัยต้องช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การนำผลงานวิจัยมาช่วยแก้ปัญหา สร้างทฤษฎีใหม่ รวมถึงรองรับผู้เรียนหลากหลายทุกช่วงอายุ โดยภายในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะสร้างศูนย์รวมการเรียนรู้ทุกเพศทุกวัย ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้น มองว่าในอนาคตการศึกษาจะโตขึ้นมาก ไม่ลดบทบาทความสำคัญลงเหมือนที่หลายคนคาดการณ์
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี ความผันผวนของเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาแยกย่อยมากขึ้น แต่ละประเทศมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ทำให้งานบางอย่างหายไป งานบางอย่างเพิ่มขึ้น จากการสำรวจวิจัยใน 55 ประเทศ 22 อุตสาหกรรม บริษัท 1,000 แห่ง ครอบคลุมพนักงาน 14 ล้านคน พบว่า ในอนาคตตำแหน่งงาน 92 ล้านตำแหน่งจะหายไป และมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 170 ล้านตำแหน่ง
โดยปัจจุบันการปรับตัวให้เข้าถึงตำแหน่งงานไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยและทักษะ ดังนี้ 1.ความเป็นคนช่างสงสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต 2.ทักษะด้านการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร 3.มีความเข้าใจตนเองและมีแรงจูงใจในการทำงาน 4.มีความเห็นอกเห็นใจและมีทักษะในการรับฟัง 6.ปรับตัวไว ทำงานยืดหยุ่น คล่องตัว 7.มีความเป็นผู้นำสร้างอิทธิพลต่อสังคมได้ 8.ทักษะด้านเครือข่าย ความปลอดภัยทางข้อมูล 9.ทักษะด้านการคิดอย่างสร้างสรรค์ 10.ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ 11.ทักษะด้านเอไอและบิ๊กดาต้า โดยปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังวิจัยว่าจะเสริมทักษะดังกล่าวให้คนไทยได้อย่างไรบ้าง นี่คือบทบาทของมหาวิทยาลัยในวันนี้
"เอไอเกิดขึ้นมา 3 ปี ปัจจุบันเด็กอายุ 13 เริ่มใช้เอไอพร้อมกับคนอายุ 60 เพราะฉะนั้นคนอายุมากกว่าคงจะบอกไม่ได้แล้ว เพราะบังเอิญน้ำที่เราอาบ ไม่ได้เป็นน้ำร้อนแบบเดิม ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัย ต้องตอบโจทย์ผู้สูงวัยและทุกวัยด้วย ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน สุดท้ายแล้ว เอไอจะไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มหาวิทยาลัยต้องไม่รอที่จะสร้าง ไม่อย่างนั้นเราจะใช้งานอย่างเดียว (ผู้ตาม) แต่ไม่สร้างของตัวเองขึ้นมา (ผู้นำ)"
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวว่า วันนี้การเรียนอย่างเดียว เก่งอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว ต้องรู้เรื่องเอไอด้วย เพราะเอไอเป็นคลังเก็บข้อมูลขนาดใหญ่มากกว่าสมองมนุษย์จะบันทึกจดจำได้ แต่เอไอก็ยังต้องใช้การรวบรวมบรรจุข้อมูลจากมนุษย์ ดังนั้น การจะชนะปัญญาประดิษฐ์ได้ต้องสอนให้คนมีปัญญาโดยธรรมชาติ มีความเข้าใจในเอไอและสิ่งต่าง ๆ ซึ่งปัญญาธรรมชาตินี้เป็นสิ่งที่จะติดตัวและต่อยอดได้ตลอดชีวิต