วันที่ 3 ก.พ.68 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาหัวข้อ Future Thailand: The Comprehensive View ในงาน Chula Thailand Presidents Summit 2025 จุฬาฯ เปิดวิสัยทัศน์ผู้นำองค์กรชั้นนำสู่อนาคตประเทศไทย ว่า ปัจจัยที่มีผลต่ออนาคตประเทศไทย ประกอบด้วย 1.ความปั่นป่วนด้านเทคโนโลยี เนื่องจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากดิจิทัลเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) สู่ระบบแชทจีพีที และเจเนอเรทีฟเอไออย่างรวดเร็ว องค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถรอให้การพัฒนาหยุดนิ่งก่อนแล้วค่อยปรับตัวได้ เพราะการพัฒนาด้านนี้ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะด้านการศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอน กระทั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตัดสินใจตั้งเป้าให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเอไอในอนาคต ปัจจุบันได้ตั้งสถาบันเอไอแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว
2.ความเปลี่ยนแปลงทางประชากร ส่งผลต่อขนาดเศรษฐกิจ ปัจจุบันแรงงานไทยและการลงทุนลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานไทยยังไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน การแก้ปัญหาคือการเพิ่มศักยภาพให้ผู้สูงอายุกลับมาทำงานได้ ซึ่งมีการทำแล้ว เช่น ขยายอายุทำงานถึง 65 ปี ปัจจุบันลดลงเหลือ 63 ปี เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ เรื่องนี้ยังเป็นความท้าทายของประเทศไทย อาจต้องมีการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น และเปิดหลักสูตรระยะสั้นเสริมทักษะร่วมสมัยเพิ่มมากขึ้นด้วย
3.ความพร้อมในการจัดการโรคระบาดและโรคติดต่อ โดยช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้เวลาถึง 4 ปี ในการจัดการโรคโควิดจนเสร็จสิ้น ถือเป็นประเทศที่ใช้เวลาออกจากโควิดนานที่สุด ดังนั้น การเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดในอนาคตสำคัญมาก โดยเฉพาะการแก้กฎหมายที่จะให้รัฐบาลสามารถดูแลด้านสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากโควิดที่ผ่านมาส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก
4.ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อน ปัจจุบันถือเป็นหายนะทางสภาพอากาศ ส่งผลเรื่องน้ำท่วมมีดินโคลนปนเปื้อนจัดการได้ยาก รวมถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่ลอสแอลเจลิส ซึ่งอเมริกาถือเป็นประเทศที่มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ยังควบคุมได้ยาก ดังนั้น ต้องมีการปรับตัว เพราะโลกร้อนไม่เลือกคนรวยหรือจน ทางแก้ไขคือ การศึกษาต้องเข้ามาช่วย เช่น เมื่อเกิดพายุน้ำท่วมพร้อมดินโคลนจะทำอย่างไร เรื่องนี้เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ด้านเศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม นิติศาสตร์และการบัญชี ต้องร่วมกันคิดตั้งแต่การป้องกันไปจนถึงการเยียวยาและการประกันภัย
5.ความปั่นป่วนด้านหน้าที่การงาน ปัจจุบันการศึกษาบางอย่างเรียนจบแล้วมีงานทำ แต่บางอย่างไม่มีงานทำ เพราะบางคนเรียนจบในยุคที่ยังไม่มีเอไอและเทคโนโลยีต่าง ๆ เหมือนปัจจุบัน ทางแก้ไขคือการศึกษาต้องปรับตัวให้โอกาสการเสริมศักยภาพด้วยหลักสูตรระยะสั้น ไม่ทิ้งใครไว้ที่ชานชาลา เช่น จากที่เคยเรียนปริญญาตรี 4 ปี ลดลงเหลือ 3 ปีได้หรือไม่ รวมถึงการเปลี่ยนคณะที่เรียนได้มากขึ้น หรือแทรกหลักสูตรระยะสั้น เพื่อไม่ให้คนเสียเวลาในการเรียนหรือเสริมทักษะให้เท่าทันยุคสมัยมากนัก เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยใช้อาจารย์ที่มีประสบการณ์ภาคเอกชนภาคองค์กรอย่างหลากหลาย ทำหน้าที่เป็นโค้ช เพราะปัจจุบันผู้เรียนสามารถหาความรู้ได้ด้วยเทคโนโลยี
6.ความปั่นป่วนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งหมายรวมถึงการแข่งขันด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการแข่งขันด้านการเงิน จากการรวมตัวของประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ และประเทศอื่น ๆ เพื่อต้องการพึ่งพาเงินดอลล่าร์ให้น้อยลง อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเงิน เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศงดรับสินค้าบริการและการลงทุนจากประเทศที่เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีสงครามต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลถึงราคาพลังงาน เชื้อเพลิง และการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐฯ เป็นต้น
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ในสถานการณ์อย่างนี้ ประเทศไทยควรมีผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นตัวแทนเจรจาด้านต่าง ๆ กับสหรัฐอเมริกา เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ พลังงาน เป็นต้น เพื่อเข้าพบคณะกรรมาธิการด้านต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา โดยรัฐบาลอาจตั้งตัวแทนจากภาคเอกชนก็ได้ เพื่อเปิดประตูทางโอกาสให้กับประเทศไทย แต่การเข้าพบอาจต้องใช้ล็อบบี้ยิสต์ เนื่องจากมีหลายประเทศต้องการเข้าพบเช่นกัน ซึ่งบริษัทที่เป็นล็อบบี้ยิสต์ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาอย่างถูกกฎหมาย ดังนั้น หากผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทยมีโอกาสเข้าพบกรรมาธิการด้านต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ก็สามารถเจรจานำเสนอข้อเท็จจริงและต่อรองเรื่องต่าง ๆ เพื่อช่วยรัฐบาลไทยได้มากขึ้น โดยคนที่จะมาเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล อาจเป็นนักธุรกิจชั้นนำ อดีตปลัดกระทรวง หรือผู้มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ก็ได้ เพื่อแสดงจุดยืนต่ออเมริกาในแต่ละเรื่องและร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป
อย่างไรก็ตาม อนาคตของประเทศไทย คือประเทศที่มีความพร้อมรับมือกับผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ รวมถึงเป็นประเทศมีความยืดหยุ่นคล่องตัว เพื่อตอบสนองต่อความผันผวนของโลก