วันที่ 3 ก.พ.2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามเรื่องมาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของนพ.นายเปรมศักดิ์ เพียยุระสมาชิกวุฒิสภา ถามนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.สาธารณสุข ว่า อาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. มีความสำคัญมากในการทำงานช่วยเหลือกระทรวงสาธารณสุขและอยู่ใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1 ล้าน 7 หมื่นคน อสม.ต้องทำงานหนักขึ้นทั้งโรคอุบัติใหม่ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCDs ดังนั้นรัฐบาลต้องดูแลให้พวกเขามีกำลังใจในการทำงานช่วยรัฐบาลทั้งเรื่องสวัสดิการ และค่าตอบแทนเพราะปัจจุบันได้รับเงินแค่ค่าป่วยการจากเดิม 600 บาทต่อเดือนปัจจุบันเป็น 2,000 บาทต่อเดือนแต่ยังไม่เพียงพกับงานที่ทำ โดนเฉพาะช่วงที่โควิดระบาด ประเทศไทยได้รับการชมเชยจากองค์กรอนามัยโรคในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งอสม.มีส่วนสำคัญมาก ทั้งนี้ เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขควรจะมีร่างพ.ร.บ.สาธารณสุขประจำหมู่บ้านได้แล้ว เพื่อให้อสม 1 ล้าน 7 หมื่นคนมีความมั่นคงในการทำหน้าที่ ควรจะกำหนดบทบาทหน้าที่ค่าป่วยการ รวมถึงส่งเสริมพัฒนาศักยภาพให้อสม.อย่างต่อเนื่อง เพราะอสมทำงานอย่างไม่มีวันหยุดราชการ ทำงานตลอดเวลา การมีกฎหมายเฉพาะจะทำให้การการทำงานของ อสม.ของมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานให้อสม.อย่างถาวร จึงควรมีกฎหมายเป็นของตัวเองมีสวัสดิการเป็นของตัวเอง และคนในครอบครัว ซึ่งอยู่ในวิสัยที่กระทรวงสาธารณสุขทำได้ ดังนั้น จึงอยากถามว่า 1.กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพของอสม.อย่างไร ขอทราบรายละเอียด 2. กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางกำหนดค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ สวัสดิการที่เหมาะสมและยั่งยืนอย่างไร และ 3 ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีความคืบหน้าในการจัดทำร่างกฎหมายสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตามที่อสม.ทั่วประเทศมีความต้องการหรือไม่อย่างไร

ด้านนายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพ อสม.อบรมทักษะพื้นฐานในการทำงาน เพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญ ฝึกอบรมความรู้ความเชี่ยวชาญ ฝึกอบรมความรู้เฉพาะทาง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล แอปสมาร์ท อสม.ขับเคลื่อนนโยบายคนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน  ในปี2568 จะพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ NCDs เชิญชวนประชาชนนับคาร์บ พัฒนาการคัดกรองโรค คัดกรอง NCDs ติดตามเยี่ยมบ้านกับเจ้าหน้าที่ทุกสัปดาห์ ร่วมกิจกรรมและรณรงค์และแก้ไขปัญหา NCDs ในชุมชน ส่วนการกำหนดค่าตอบแทนให้อสม.นั้นเป็นไปเหมาะสมเหมาะสม และจะให้ยั่งยืน ซึ่งมีการร่างพ.ร.บ.อสม.ในหมวด 3 และเสนอให้มีกองทุนอสม. หากช่วยเหลือดูแลทำให้ประชาชนลดการเจ็บป่วยจาก NCDs ที่เป็นโรคที่ใช้งบประมาณสปสช.ถึง 52 เปอร์เซ็น หรือ 79,000 ล้านบาทต่อปี จะนำส่วนนี้เข้าให้กองทุน นอกจากนี้สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เพิ่มค่าป่วยการ 2,000 บาท เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการตั้งมูลนิธิ อสม. เพื่อให้มีสวัสดิการ เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายให้โดยตรง ในเรื่องประสบสาธารณภัย จะช่วย 2,500-5,000บาท อุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ 1,000-5,000 บาท  เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ สิทธิการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ เป็น อสม.ดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร อสม.ที่มีผลงานดีเด่นจะได้เป็นเงินรางวัล 1 แสนบาท สิทธิโควตาการศึกษาในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การเข้าหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3,000 คน สำหรับคนที่มีความสามารถ

“ถ้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม.แห่งประเทศไทยมได้คุยกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว วันที่ 17 ก..พ.นี้ จะให้กู้ โดยใช้ฌาปนกิจสงเคราะห์ค้ำประกัน คนรับสิทธิประโยชน์เมื่อ อสม.เสียชีวิตให้เซ็นต์รับรู้หนี้สิน เพื่อจะกู้ดอกเบี้ยถูกร้อยละ 6 จากเดิมร้อยละ 8 กู้ได้ 1 แสนบาท ส่วนความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.อสม.ผมก็เหนื่อยใจเหมือนกัน เข้ามารับตำแหน่ง 9 เดือนแล้ว สัปดาห์แรกก็จะทำร่างพ.ร.บ.ให้อสม. ร่างแล้วเสร็จ เมื่อ 6 เดือนก่อน วันที่ 7 สค.67 นำต้นร่างเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)และ ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ครม. รับฟังความเห็นของกรมบัญชีกลาง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายบริหารกองทุนหมุนเวียนที่จะให้ความเห็น มีรองนายกฯดูแลกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีกรมบัญชีกลางเป็นเลขานุการ ผมส่งเรื่องนี้ไปตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.และมีการพูดคุยโต้ตอบกันและส่งหนังสือไปด้วยไม่น้อยกว่า 7 ครั้ง  และเมื่อวันที 16 ม.ค. กรมบัญชีกลางขอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น โต้ตอบกัน ไม่รวมโทรศัพท์ก็ 7 ครั้งแล้ว โต้ตอบกันไปมา จะบอกว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ทำงาน มัวไปไหน แต่ท่านไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ท่านต้องการ ก็เป็นความต้องการของกระทรวงสาธารณสุขที่อยากทำให้ อสม. ในทางราชการมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นด้วย” นายสมศักดิ์กล่าว