วันที่ 3 ก.พ.2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงสรุปภาพรวมการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา   ว่าในส่วนการเลือกตั้งนายก อบจ. มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27,991,587 คน   มีผู้มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน  คิดเป็น 58.45 %  ถือว่าลดลงจากการเลือกตั้ง อบจ.ปี 2563 ประมาณ 4%   โดยในจำนวนเป็นบัตรดี 14,272,694 ใบ คิดเป็น 87.23 %  ส่วนบัตรเสีย 931,290 ใบ คิดเป็น 5.69 %   ก็ถือว่าเกือบจะเท่ากับปี 2563 ที่มีบัตรเสียอยู่ที่ 5.63 %  และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,158,201 ใบ คิดเป็น 7.08 %

ขณะที่ภาพรวมการเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. มีจำนวนผู้มีสิทธิ์   47,124,842 คน  มีผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน   คิดเป็น 56.06 %    โดยเป็นบัตรติ 23,131,324 ใบ คิดเป็น 87.56% บัตรเสีย 1,488,086 ใบ   คิดเป็น 5.63%    และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,799,344 ใบ คิดเป็น 6.81%

ส่วนจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายก อบจ. มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. ลำพูน คิดเป็น 73.43 % 2. นครนายก คิดเป็น 73 %   3. พัทลุง คิดเป็น 72.56 %  4. นราธิวาส คิดเป็น 68.42%   และ 5. มุกดาหาร คิดเป็น 68.03 % 

จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. พะเยา คิดเป็น 61.68 %    2. เลย คิดเป็น 58.04 %   3. เพชรบุรี คิดเป็น 57.44 %   4. ยโสธร คิดเป็น 56.72 %  และ  5. ชัยนาท คิดเป็น 56.63 %

นายแสวง กล่าวว่า จากข้อมูลที่เห็นว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อย ไม่ได้ตามเป้าเพราะจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ว่า เรื่องนี้ตนเคยชี้แจงว่ามีข้อจำกัดที่ข้อกฎหมายที่ต้องเลือกภายใน 45 วัน และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่ามี  6 จังหวัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ส่งรายงานผลคะแนนและหับบัตรเกินเวลา 24 นาฬิกา ของวันที่ 1 ก.พ. สะท้อนว่าสิ่งที่เราได้ตัดสินใจเลือกตั้งวันเสาร์นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งครั้งนี้ก็เกิดเหตุกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)  เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างส่งหีบบัตร  ซึ่งตนขอแสดงความเสียใจ และทาง  กกต.จะดูแลตามสิทธิที่  กปน.ควรจะได้รับ   

“ดังนั้นการเลือกวันเลือกตั้ง จึงต้องตัดสินใจบนพื้นฐานที่ไม่กดดันการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้วย   และการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ ไม่ได้กระทบต่อการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะผู้สมัครทุกคนแข่งขันขันอย่างเท่าเทียม   ภายใต้กติกาเดียวกัน อีกทั้งจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ น้อยกว่าการจัดเลือกตั้งปี 2563 เพียง 4% แต่ถ้าเทียบการจัดเลือกตั้งอบจ.วันเสาร์คราวนี้ มี 29 จังหวัดที่เลือกตั้งไปก่อนหน้านี้แล้ว ถือว่า ครั้งนี้ดีกว่า” นายแสวง กล่าว

นายแสวง กล่าวว่า  ส่วนจำนวนบัตรเสีย ยืนยันว่าไม่ต่างจากปี 2563  โดยบัตรเสียจากการเลือกนายก  ถือว่าเท่ากับปี 2563 ขณะที่บัตรเสียจากการเลือกสมาชิกสภาดีกว่าครั้งที่แล้ว  ครั้งนี้มีน้อยกว่าเมื่อครั้งปี 2563 อยู่ที่ 7.63 % ซึ่งจากการได้รับข้อมูลพบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากตัวระบบเองที่ทำให้มีเบอร์ของผู้สมัครที่ส่งในนามพรรค และส่งในนามสมาชิก  บางจังหวัดมีการแข่ง ทำให้จำนวนไม่เท่ากัน เพราะบางจังหวัดเลือกเฉพาะสมาชิก บางจังหวัดก็เลือกทั้ง 2 ประเภท  ทำให้ประชาชนอาจสับสน ลงคะแนนในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร มองได้ว่าไม่ได้เป็นการตั้งใจทำให้บัตรเสีย ขณะเดียวกัน ยังมีการแบ่งเขตใหม่ จึงทำให้ประชาชนสับสน ส่วนที่ตั้งใจทำให้เป็นบัตรเสียนั้นมีส่วนน้อย

สำหรับบัตรโหวตโน ไม่เลือกใครนั้น ทาง กกต.ไปตอบแทนประชาชนไม่ได้  แต่ช่องนี้น่าจะเป็นการแสดงความรู้สึกของประชาชนต่อผู้สมัครในเขตนั้นๆ  ซึ่งครั้งนี้ สมาชิกสภา อบจ.ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนตามที่กฎหมายกำหนด 3 เขต   คือได้คะแนนเสียงไม่มากกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด ประกอบด้วย  จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1   จังหวัดตรัง อำเภอเมืองตรัง เขตเลือกตั้งที่ 2  และ จังหวัดชุมพร อำเภอสวี เขตเลือกตั้งที่ 4 และมีอีก 1 เขตที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครถูกตัดสิทธิไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง   คือจังหวัดชัยนาท   อำเภอวัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1   

ดังนั้น ทั้ง 4 จังหวัดนี้ต้องเลือกตั้งใหม่  โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง    และดำเนินการรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้ง   และกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน  นับแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่

นอกจากนี้ ยังพบว่า มี 4-5 จังหวัดที่พบจำนวนบัตรกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์จำนวนไม่ตรงกัน  ซึ่งตรงนี้ทางจังหวัดต้องพิจารณาและเสนอมาที่ กกต.ว่าสมควรจะให้มีนับคะแนนใหม่    หรือลงคะแนนเลือกตั้งใหม่

ส่วนที่พรรคประชาชนจะเสนอให้มีการนับคะแนนใหม่ เลือกนายก อบจ.ที่จังหวัดเชียงใหม่ และสมุทรปราการ เนื่องจากเห็นว่ามีจำนวนบัตรเสียจำนวนมาก นายแสวง กล่าวว่า เรื่องการนับคะแนนใหม่นั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ เช่น ระหว่างการนับคะแนนมีการทักท้วงและมีการทำบันทึกไว้หรือไม่ ซึ่งต้องไปพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์นั้นหรือไม่    

ส่วนเรื่องทุจริตการเลือกตั้ง ทั้งที่ปรากฏทางสื่อช่องทางต่างๆ นั้น   อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงาน และล่าสุดจำนวนเรื่องร้องเรียนมี 180 เรื่อง