ราชบุรี - ชิมมันมือเสือหากินยาก 1 ปีมีครั้งเดียว
พาชิมมันมือเสือของเกษตรกรชาว ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี 1 ปี หากินได้เพียงครั้งเดียว มีออเดอร์สั่งจองขุดขายแทบไม่ทัน เตรียมขยายแปลงปลูกเพิ่มรับออเดอร์ปีหน้า
( 2 ก.พ. 68 ) ไปชิมอาหารโบราณที่หากินยากแล้วในสมัยนี้ น้อยคนนักที่จะรู้จักกับมันมือเสือ มันอ้น หรือ มันอ้อน เป็นพืชที่มีลักษณะเป็นหัวอยู่ใต้ดินคล้ายอุ้งตีนเสือ 1 ปี จะหากินได้เพียงครั้งเดียว ลำต้นจะเป็นเถายาวต้องใช้ไม้ยาวปักไว้ 4 มุม เพื่อให้เลื้อยไต่อาศัยได้ ที่สำคัญคือ ลักษณะของหัวมันจะมีคล้ายกับมือเสือหรือ ตีนเสือมีขนขึ้นอยู่ตามหัว ด้านในเมื่อใช้มีดปอกออกมาจะมีสีขาว รสชาติจะกินแล้วรู้สึกมีความเหนียวหนึบหนับ นำไปจิ้มกินกับน้ำตาลรสชาติจะออกมัน ๆ คล้ายกับกินหัวเผือก คนสมัยโบราณจะรู้จัก แต่สำหรับคนปัจจุบันน้อยนักที่รู้จักและไม่เคยพบเห็น
นางฐิติมา แก้วคำ อายุ 36 ปี กล่าวว่า ที่เห็นนี้เรียกว่ามันมือเสือ หรือ มันอ้น หรือ มันอ้อน ที่เรียกเพี้ยนกันออกไป ปีหนึ่งจะหากินได้เพียงครั้งเดียว ใช้เวลาปลูกนาน ประมาณ 6 - 8 เดือน จะไม่ค่อยพบเห็นการปลูกที่แพร่หลายนัก เพราะใช้เวลานาน ในตลาดมีขายไม่มาก ตอนนี้มียอดสั่งจองขุดขายไม่ทัน ไม่ค่อยพอส่งขายแล้ว อีกทั้งพันธุ์ก็ต้องเก็บไว้ปลูกต่ออีก ส่วนการกินจะนำไปล้างแล้วต้มประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง แล้วปอกเปลือกนำไปจิ้มกินกับน้ำตาลทราย หรือ น้ำตาลปึก แล้วแต่ความชอบกัน ถือว่าเป็นของกินเล่นของสมัยคนโบราณ แต่สมัยนี้จะหากินได้ยากมาก คงมีแต่บ้านนี้ที่อนุรักษ์ปลูกไว้ ซึ่งจะต้องปลุกในช่วงหน้าฝนประมาณเดือน 5 เดือน 6 หรือ ปลูกประมาณเดือนพฤษภาคม จนถึงเดือนมิถุนายนจึงจะงอกขึ้นมา แล้วนำหัวที่เพาะไว้ไปลงปลูกในหลุมได้ หากปลูกตอนนี้ก็จะเน่าเสียหายหมด โดยหลังจากที่ปลูกไม่นานก็จะทำค้างไม้ให้มันเลื้อยขึ้นไป พอเวลาแก่ให้สังเกตที่ใบจะมีสีเหลืองแห้งจึงขุดขึ้นมากิน และขายได้ ตอนนี้ขายอยู่ตามบ้านกิโลกรัมละ 25 บาท แต่ถ้าส่งขายตลาดประมาณกิโลกรัมละ 30 - 40 บาท ขายตามบ้านแถบนี้ก็แทบจะไม่พอขายอยู่แล้ว
สำหรับการขุดหาหัวมันมือเสือให้สวยงามไม่โดนหัว คือต้องรดน้ำให้ดินเปียกก่อน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง เพื่อให้ดินมีความหมาดนิ่ม พอเอาจอบขุดลงไปในดิน ก็จะเจอง่ายขึ้นกว่าดินแข็งที่ต้องใช้แรงขุดหลายครั้ง โดยให้คำนวนระยะของหัวมันมือเสือก่อนจากโคนต้น แล้วจึงใช้จอบขุดลงไปให้ลึกจนมิดตัวจอบ ก็จะเจอหัวมันมือเสืออยู่เป็นก้อนรวมกันหลายหัว จากนั้นบี้เอาดินออก นำใส่ตะกร้าเพื่อนำไปชั่งใส่ถุงเตรียมส่งขายลูกค้าที่สั่งจอง อีกส่วนก็จะเลือกหัวเล็ก ๆ เก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปในฤดูปลูกครั้งหน้า
มันมือเสือ ถือว่าเป็นพืชที่หากยิ่งแล้วในปัจจุบันนี้ หากไม่มีการขยายพันธุ์อนุรักษ์ไว้ ก็อาจจะสูญพันธุ์ไปในที่สุดอันใกล้นี้