คนกรุงยังอ่วม! ฝุ่นพิษ “กทม.” พุ่งเกินมาตรฐาน 70 พื้นที่ ด้าน “นิด้าโพล”เผยผลสำรวจฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มองภาครัฐแก้ปัญหาไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ส่วนรถเมล์-รถไฟฟ้าฟรี แก้ปัญหาได้น้อยมาก ส่วน “นายกฯ”ยัน รบ.ทำงานอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง ย้ำนโยบายใช้รถไฟฟ้าฟรีทำให้รถไม่ติด ลดจำนวนรถยนต์ 5 แสนคันต่อวัน ทำให้ฝุ่นลดน้อยลง
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 05.00-07.00 ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครสรุปผลการตรวจวัด PM2.5 วันนี้คุณภาพอากาศระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
ทั้งนี้ ณ เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 40.1 - 71.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับเมื่อวานในช่วงเวลาเดียวกัน และ พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (มาตรฐานไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.) จำนวน 70 พื้นที่ โดย 5 อันดับแรกประกอบด้วย 1.เขตหนองจอก บริเวณหน้าสำนักงานเขตหนองจอก : มีค่าเท่ากับ 71.1 มคก./ลบ.ม. 2.เขตลาดกระบัง ด้านหน้าโรงพยาบาลนคราภิบาล : มีค่าเท่ากับ 69.6 มคก./ลบ.ม. 3.เขตทวีวัฒนา ทางเข้าสนามหลวง 2 : มีค่าเท่ากับ 68.6 มคก./ลบ.ม. 4.เขตหนองแขม สามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 : มีค่าเท่ากับ 67.7 มคก./ลบ.ม. 5.เขตบึงกุ่ม ภายในสำนักงานเขตบึงกุ่ม : มีค่าเท่ากับ 67.4 มคก./ลบ.ม.
ด้าน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “กรุงเทพฯ เมืองในฝุ่น” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
เมื่อถามประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึงความรุนแรงของวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงหลายวันที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 74.43 ระบุว่า มีความรุนแรงมาก , รองลงมา ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ค่อนข้างมีความรุนแรง , ร้อยละ 5.88 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความรุนแรง และร้อยละ 1.14 ระบุว่า ไม่มีความรุนแรงเลย
สำหรับการให้ประชาชนใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้า BTS - MRT ฟรี 7 วัน ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร พบว่า ร้อยละ 34.89 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้น้อยมาก ร้อยละ 33.89 ระบุว่า ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเลย ร้อยละ 24.50 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้พอสมควร ร้อยละ 6.72 ระบุว่า ช่วยแก้ไขปัญหาได้มาก
ด้านประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พบว่า ร้อยละ 41.15 ระบุว่า ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 35.34 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย ร้อยละ 20.38 ระบุว่า ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 3.13 ระบุว่า มีประสิทธิภาพมาก
ส่วน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จัดรายการ “โอกาสไทยกับนายกแพทองธาร” เป็นครั้งแรก โดยจะมีเป็นประจำทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน โดยกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่าได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำชับทุกกระทรวง ให้ดำเนินการตามกฎทุกอย่างอย่างเคร่งครัดเพราะมีการพยากรณ์สถานการณ์ล่วงหน้า จึงจะต้องทำมาตรการให้เข้มข้นเพื่อบรรเทาสถานการณ์มากที่สุด แต่เมื่อถึงสถานการณ์จริง ทุกคนไม่มีความสุขตัวเองก็ไม่แฮปปี้ เพราะมีลูกเล็ก 2 คนหลานๆ เต็มบ้านไปโรงเรียนไม่ได้ แต่ละกระทรวง ก็ทำงานอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง นโยบายใช้รถไฟฟ้าฟรีทำให้รถไม่ติด ลดจำนวนรถยนต์ 5 แสนคันต่อวัน ทำให้ฝุ่นลดน้อยลงด้วย