สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

ไทยและจีนนั้นมีความผูกพันกันมาแต่โบรํ่าโบราณตั้งแต่ในราวปี พ.ศ.500 และต่อเนื่องเรื่อยมาทุกยุคสมัย จนเกิดการหลอมรวมเข้าด้วยกันจนแทบแยกไม่ออกด้วยความผูกพันที่มีต่อกันมายาวนาน ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมก็ยังถูกหลอมรวมได้เช่นกันอย่างเช่นวันตรุษจีนที่ชาวจีนจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ คนไทยเองก็นับเป็นหนึ่งในวันสำคัญที่ได้จัดพิธีกรรมในการไหว้ศาลพระภูมิและเจ้าที่เจ้าทางของตนด้วยเช่นกัน  เนื่องในเทศกาลตรุษจีนในปีนี้จึงนำเสนอ เหรียญเด่นสองแผ่นดินที่หล่อหลอมและผสานวัฒนธรรม 2 เชื้อชาติอยู่ในเหรียญเดียวกัน และได้รับความนิยมอย่างสูงและมีค่านิยมสูงมาก ก็คือ เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น หรือ 18 อรหันต์

เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น เป็นเหรียญที่ระลึกอันทรงคุณค่า ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระราชพิธีโบราณของชาติไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2434 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เนื่องในพระราชพิธีทรงพระผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า

 “เมื่อ พ.ศ. 2434 ทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร เปนการใหญ่ มีสมโภชแลแห่ไปทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วฉลองที่นั่น แต่ในคืนนั้น เสด็จประทับแรม ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม บ่ายแห่งวันรุ่งขึ้น เสด็จมาประทับวัดนี้ เสด็จอยู่ที่พระปั้นหยา ออกพรรษาแล้ว ทรงถวายเทศนามหาชาติกัณฑ์สักกบัพพ์ โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ทำสำเภาเป็นกัณฑ์เทศน์ ทรงผนวชอยู่ 5 เดือน ลาผนวช”

เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น สร้างเป็นเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อทองสีดอกบวบ เนื้อทองแดงแก่ทอง พุทธลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม ขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายเหรียญอีแปะเงินของจีนโบราณ 4.6 เซนติเมตร ความหนา 2 มิลลิเมตร มีรูสี่เหลี่ยมตรงกลางเหรียญ  ด้านหน้า จำลองรูป พระอรหันต์ 18 องค์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษตามคตินิยมในพระพุทธศาสนา แบบมหายานฝ่ายจีน ซึ่งเรียกว่า “จับโป้ยล่อฮั่น” ด้านหลัง มีอักษรไทยที่เขียนลักษณะเลียนแบบอักษรจีน ถ้าอ่านจากด้านบนลงล่างจะได้ความว่า "การทรงพระผนวช" ที่ด้านขวาจะเป็นอักษรย่อ "ส, พ, บ, ร, อ," ย่อมาจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ด้านซ้ายเป็นปี “ปี ร.ศ.๑๑๐”

สังเกตท่วงท่า การแสดงตนอากัปกิริยา, การถือสิ่งของ (อาวุธ) มงคล จะมีชื่อเรียกตามลักษณะนี้ดังต่อไปนี้ คือ

องค์ที่ 1 “ปิณโฑล” พระอรหันต์องค์สุดท้ายใน 18 เซียน เป็นพระอรหันต์ปราบมังกร

องค์ที่ 2 “ปินโฑล ภารัทวาช” เป็นคนผอมเห็นซี่โครง ยืนบ้างนั่งบ้าง มือถือหนังสือ อีกมือถือบาตร หรือมือทั้งสองถือหนังสือ

องค์ที่ 3 “กนกวัจฉ” เป็นผู้นั่งห้อยเท้าขวา มือขวาวางบนเข่า มือซ้ายวางที่ฝ่าเท้าซ้าย

องค์ที่ 4 “กนกภารัทวาช” 1 ใน 7 มหาฤๅษี คนแก่ผมยาว นั่งยกเท้าซ้ายขึ้นจากรองเท้า มือขวาวางบนเข่า มือซ้ายอยู่ข้างหู

องค์ที่ 5 “สุปินฑ” เป็นคนแก่นั่งสมาธิ มือถือหนังสือ

องค์ที่ 6 “นกุล” ชอบอยู่โดดเดี่ยว นั่งห้อยเท้า มีพังพอนอยู่ข้างๆ

องค์ที่ 7 “ภัทร” มีเสืออยู่ข้างๆ

องค์ที่ 8 “กาลิก” เป็นชายชรา คิ้วยาวจรดดินต้องใช้มือถือเอาไว้

องค์ที่ 9 “วัชรบุตร” นั่งห้อยเท้า ถือไม้เท้าขักขระ

องค์ที่ 10 “สุปากะ” นั่งห้อยเท้า มือถือพัด หรือทั้งสองมือถือประคำ

องค์ที่ 11 “ปันถก” นั่งห้อยเท้าบนหลังสิงห์ และทรมานพระยานาคให้เข้าอยู่ในบาตร เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ

องค์ที่ 12 “นาคเสน” นั่งห้อยเท้า มือซ้ายยกสูงเพียงหู มือขวาวางอยู่บนเข่า

องค์ที่ 13 “อิงคท” มหาสาวกที่ร่างกายสะอาด มีกลิ่นหอม รูปนั่งห้อยเท้า สมบูรณ์ ร่าเริง

องค์ที่ 14 “วันวาสี” นั่งห้อยเท้าอยู่หน้าปากถ้ำ หลับตาเหมือนเข้าฌาน ถือหนังสือ หรือไม่ก็ยกนิ้วทำมุทธา

องค์ที่ 15 “อชิต” เป็นพระชรา นั่งห้อยเท้า ขนคิ้วยาว มือวางบนเข่า ที่หน้าอกมีรูปหน้าคน

องค์ที่ 16 “จูฑะปันถก” มหาสาวก นั่งห้อยเท้า มือขวาถือถ้วย มีนกกำลังจิบน้ำ

องค์ที่ 17 “นนทิมิตร” พระอรหันต์เป็นผู้ที่มีบริวารมากที่สุดถึง 1,700 รูป

องค์ที่ 18 “ราหุล” พระพุทธชิโนรส เป็นผู้มีศีรษะใหญ่โต ตาโต จมูกเป็นขอ บางครั้งเป็นรูปคนธรรมดาก็มี มือทั้งสองข้างอุ้มเจดีย์

พุทธลักษณะด้านหลังเหรียญ มีอักษรไทยที่เขียนลักษณะเลียนแบบอักษรจีน ถ้าอ่านจากด้านบนลงล่างจะได้ความว่า "การทรงพระผนวช" ที่ด้านขวาจะเป็นอักษรย่อ "ส, พ, บ, ร, อ," ย่อมาจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ด้านซ้ายเป็นปี “ปี ร.ศ.110”

 “เหรียญที่ระลึก จับโป้ยล่อฮั่น” เหรียญที่ระลึกอันทรงคุณค่าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและที่สำคัญก็คือ เข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับ ‘พระกริ่งปวเรศ’ อันลือเลื่อง ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ จึงนับเป็นเหรียญเก่าแก่ของวัดบวรนิเวศวิหาร อันทรงคุณค่าทั้งวัตถุประสงค์การจัดสร้าง พุทธคุณ กอปรกับลักษณะแม่พิมพ์ที่โดดเด่นแปลกตาและผสานรูปแบบ 2 เชื้อชาติได้อย่างงดงามมาก จึงเป็นที่นิยมสะสมอย่างสูงในแวดวงนักนิยมสะสมกัน แต่ด้วยจำนวนการจัดสร้างไม่มากนัก และมีของทำเทียมเลียนแบบกันมาเนิ่นนาน ปัจจุบันจะหาดูเหรียญแท้ๆ สักเหรียญยังยากยิ่งนักครับผม