สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธ.ค.67 อยู่ที่ระดับ 90.18 หดตัวร้อยละ 2.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวมปี 67 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.79 รับปัจจัยลบหลักมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์หดตัวต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้นทุนพลังงานสูง และสินค้านำเข้าจากจีน ไต้หวัน และเวียดนามที่เพิ่มขึ้น กดดันภาคการผลิตในประเทศ ชี้ยังคงมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม 9 กลุ่มเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.68 นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 90.18 หดตัวร้อยละ 2.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 55.97 ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 2567 ดัชนี MPI อยู่ที่ระดับ 95.76 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.79 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.44 โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ตลาดภายในประเทศชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน นอกจากนี้ค่าครองชีพและต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับสูง สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจำเป็นต้องหยุด และผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีน อาจทำให้สินค้าเข้ามาสู่ไทยและอาเซียนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกจากรัฐบาลที่มีโครงการเพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ เช่น โครงการเงิน 10,000 บาท โครงการพักหนี้ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ช่วยในการตัดเงินต้น พักดอกเบี้ย 3 ปี และปิดจบหนี้ ทำให้ภาระหนี้สินครัวเรือนลดลง และสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดส่งออกที่ยังคงดีสะท้อนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.5 และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมกราคม 2568 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง แต่มีแนวโน้มฟื้นตัว” หลังจากปัจจัยภายในประเทศกลับมาอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ปรับลดลง โดยภาคการผลิตกังวลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงการลงทุนและปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ชะลอตัว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติเบื้องต้น ตามการจ้างงานที่ดีขึ้น ทั้งภาคการผลิตญี่ปุ่นและสหรัฐฯ แต่ยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในระยะถัดไป

“ก่อนหน้านี้ สศอ. ได้ประมาณการดัชนี MPI ปี 2567 จะหดตัวร้อยละ 1.6 แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดัชนี MPI ทั้งปี 2567 หดตัวร้อยละ 1.79  ทั้งนี้เนื่องจากการผลิตยานยนต์ที่ต่ำกว่าเป้าจากการคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน ได้มีการปรับลดลงเหลือ 1.5 ล้านคัน ทำให้กระทบต่อดัชนี MPI รวมถึงปัญหาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศทะลัก ส่งผลกดดันการผลิตภายในประเทศของผู้ประกอบการไทย ซึ่งมูลค่าการนำเข้าปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 6.3 โดยประเทศที่ไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ สินค้าจากประเทศจีน ไต้หวัน และเวียดนาม โดยมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.38, 24.4 และ 18.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม และ สศอ.ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว และได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมการใช้ Solar Rooftop ในภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ก้าวทันโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว” นายภาสกรกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนธันวาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

-พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.40 จากผลิตภัณฑ์  Polyethylene (PE)  Polypropylene (PP) และ Ethylene เป็นหลัก เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อนอันเกิดจากความต้องการของตลาดที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราว รวมถึงมีผู้ผลิตบางรายหยุดซ่อมบำรุง  ครั้งใหญ่ แต่ในปีนี้ความต้องการของตลาดกลับมาเพิ่มสูงขึ้น และผู้ผลิตผลิตได้ตามปกติไม่มีการซ่อมบำรุง จึงส่งผลให้การผลิตในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

-น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.19 จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาว เป็นหลัก เนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำมากพอในพื้นที่เพาะปลูกหลังมีฝนตกเพิ่มขึ้น และราคาอ้อยที่ในฤดูการผลิต 2566/67 ค่อนข้างสูง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

-เครื่องจักรอื่นๆที่ใช้งานทั่วไป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.97 จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก ตามอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ผลิตบางรายสามารถส่งออกสินค้า ที่ผ่านมาตรฐานการรับรอง ประกอบกับคำสั่งซื้อจากลูกค้าสหรัฐอเมริกา อิรัก และประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมจำหน่ายในช่วงฤดูร้อน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนธันวาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่

-ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 22.79 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

-ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.54 จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่ลดลงจากลูกค้าและบริษัทแม่ในต่างประเทศ

-น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 32.56 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากปริมาณผลปาล์มที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปีและอุทกภัยทางภาคใต้ในช่วงปลายปี ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

#ข่าววันนี้ #กระตุ้นเศรษฐกิจ #MPI #อุตสาหกรรม #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์