กรมประมง เร่งติดตามลูกเรือประมง สูญหาย 1 ราย จากพายุ "ปาบึก” พร้อมแจ้งชาวประมง งดออกจากฝั่ง วันนี้ (4 ม.ค.62) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือและร่วมสนับสนุนการป้องกันเพื่อหยุดยั้งความเสียหาย พร้อมช่วยเหลือชาวประมงและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ รวมไปถึงให้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง กรมประมง โดยศูนย์แจ้งเตือนภัยธรรมชาติปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรมประมง ได้ประสานไปยังศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) ศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง (FMC) และสำนักงานประมงจังหวัดในเขตพื้นที่ชายฝั่งให้เฝ้าระวังสถานการณ์ พร้อมสื่อสารในทุกช่องทางการติดต่อ เพื่อแจ้งให้ชาวประมง เกษตรกร ประชาชนทราบถึงสถานการณ์เป็นระยะ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเรือประมงที่ทำการอยู่ในทะเล ได้ทำการแจ้งเตือนผ่านทางวิทยุสื่อสารให้กลับเข้ามาหลบพายุเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 4 ม.ค.62 ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุมีเรือประมงอับปางที่ปากอ่าวปัตตานี ซึ่งเป็นขณะเดียวกันกับที่ศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมง (FMC) พบสัญญาณ VMS ของเรือประมง “โชคมลิณี” ขาดหายไป จึงได้ประสานแจ้งให้เรือตรวจการณ์ประมงออกให้การช่วยเหลือ โดยข้อมูลเบื้องต้น พบว่า เรือประมงที่ประสบเหตุ เป็นเรือขนาด 40 ตันกลอส ความยาว 17 เมตร ซึ่งมีลูกเรือประมง จำนวน 6 คน ล่มอับปางที่ปากอ่าวปัตตานี (บริเวณแหลมตาชี) อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยเรือดังกล่าว ได้แจ้งออกทำการประมงจากท่าเทียบเรือประมงสงขลา ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา แต่เมื่อได้รับการแจ้งจากศูนย์แจ้งเตือนภัยธรรมชาติปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรมประมง จึงได้ขอนำเรือเข้าหลบพายุที่ปากอ่าวปัตตานี เช่นเดียวกับเรือประมงลำอื่นๆ อีก 9 ลำ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 เวลา 20.45 น. แต่เมื่อเกิดพายุซึ่งมีความรุนแรงจึงทำให้เรือลำดังกล่าวเกิดเหตุอับปางลง ซึ่งเบื้องต้นเรือตรวจการณ์ประมงทะเลของกรมประมง พร้อมด้วยเรือ ต.995 ของกองทัพเรือ และเรือของกรมเจ้าท่า ได้เข้าให้การช่วยเหลือลูกเรือกลับเข้าฝั่งได้อย่างปลอดภัย จำนวน 4 ราย และพบพบลูกเรือเสียชีวิต จำนวน 1 ราย สูญหายอีก 1 ราย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานยังระดมค้นหาติดตามลูกเรือที่สูญหายอยู่ และกู้ซากเรือประมงที่อับปางอย่างเต็มกำลัง แต่เนื่องจากคลื่นลมแรงจึงเป็นอุปสรรคในการดำเนินการ นอกจากนี้ กรมประมงได้เตรียมให้ความช่วยเหลือชาวประมงที่ประสบภัยธรรมชาติทั้งในส่วนของเจ้าของเรือและลูกเรือผู้ประสบภัย ตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือชาวประมงที่ประสบภัยธรรมชาติ พ.ศ.2541 อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงขอแจ้งเตือนไปยังชาวประมงให้งดออกจากฝั่งในช่วงที่สถานการณ์พายุยังไม่สงบ และให้ติดตามรายงานสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดจนกว่าสภาวะอากาศจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ กรมประมงได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดทุกพื้นที่เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั้งในเรื่องของเรือ และกำลังเจ้าหน้าที่สนับสนุนแล้ว หากประชาชน เกษตรกร ชาวประมง ประสบภัยดังกล่าวสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือไปที่ สำนักงานประมงจังหวัดทุกจังหวัด หรือ ติดต่อศูนย์แจ้งเตือนภัยธรรมชาติปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรมประมง หมายเลขโทรศัพท์0 2562 0546 ตลอด 24 ชั่วโมง