คลังเผยเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนธ.ค.67 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคใต้ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัวในทุกภูมิภาค

เมื่อวันที่ 30 ม.ค.68 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2567 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนธันวาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคใต้ กทม. และปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัวในทุกภูมิภาค

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนธันวาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค รายได้เกษตรกร การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 13.2 และ 33.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -28.1 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.8 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -27.6 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 145.8 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากชีวมวลในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 78.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 79.9 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 13.0 และ 18.5 ต่อปี ตามลำดับ 

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนธันวาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 และ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -25.3 และ -4.7 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 และ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 57.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -20.1 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -20.8 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 23.4 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตโลหะมีค่าในจังหวัดสมุทรปราการ เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.2 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 และ 16.0 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนธันวาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.9 ต่อปี อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -25.7 -5.3 และ -3.6 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 60.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -8.6 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 28.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -27.2 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 55.3 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินในจังหวัดอุดรธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 73.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 75.0 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนธันวาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค การท่องเที่ยว และรายได้เกษตรกร อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 และ 2.3 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -28.9 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -31.1 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 14.6 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยใช้แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินจากเทคโนโลยีแผงไฟโตโวลเทอิกในจังหวัดพิษณุโลก เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.8 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 และ 5.5 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนธันวาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกร การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 และ 8.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -40.6 และ -6.9 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 60.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -23.2 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -18.1 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 134.5 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงงานไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 85 เมกะวัตต์ในจังหวัดสระแก้ว เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 94.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 95.2 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 10.8 และ 11.5 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนธันวาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวสูง อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -27.3 และ -13.7 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 และ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัวที่ร้อยละ -4.2 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.8 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -22.3 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 8,322.4 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงานในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.2 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 และ 5.5 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนธันวาคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -4.1 -32.1 และ -10.9 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.8 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -38.6 และ -30.8 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 และ 5.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.2 เครื่องชี้ภาคการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 11.9 และ 17.4 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย ประจำเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งสำรวจจากสำนักงานคลังจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันตก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรเป็นสำคัญ สอดคล้องกับกำลังซื้อสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชนซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคบริการเป็นสำคัญ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคใน 6 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

#คลัง #เศรษฐกิจภูมิภาค #ท่องเที่ยว #ข่าววันนี้ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์