บูรพา โชติช่วง/รายงาน
ชวนพุทธศาสนิกชนใส่บาตร 10 วัดเด่นวิถีประเพณี เป็นกิจกรรมในโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ(วันพระ) “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ที่ทางกรมการศาสนา(ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้คัดเลือก 10 สถานที่ที่มีวิถีและประเพณีโดดเด่น มีวัดอยู่ใกล้ชุมชน มีการให้บริการจัดของตักบาตรให้กับนักท่องเที่ยว การจัดพื้นที่แสดงสินค้าชุมชนที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน ที่มีอยู่ในเมืองหลักและเมืองรอง
กิจกรรมศรัทธาอิ่มบุญฯ เป็นการต่อยอดและขยายผลมาจากแนวคิด “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เมื่อปีที่แล้ว เพื่อที่ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัดทำบุญเป็นประจำทั้งในวันพระและวันสำคัญทางสถาบัน ทางศาสนาเพิ่มมากขึ้น และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิต ซึ่งชาวพุทธได้ให้การตอบรับเข้าร่วมเป็นอย่างมาก ล่าสุด ศน.ร่วมกับวัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมโครงการดังกล่าว โดยมี พระครูอุดมจารุวรรณ เจ้าคณะเขตมีนบุรี เจ้าอาวาสวัดบำเพ็ญเหนือ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ผู้บริหารวธ. ศน. และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2568 กิจกรรมประกอบด้วย การตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือบริเวณท่าน้ำวัด ปล่อยพันธุ์ปลาร่วมกับคนในชุมชน มอบถุงยังชีพให้กับผู้ขาดแคลนในชุมชน และเยี่ยมชมอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของดีชุมชน บริเวณตลาดน้ำขวัญ – เรียม ซึ่งตลาดน้ำแห่งนี้มีแนวคิดมาจากนิยายเรื่องแผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม ตัวละครในเรื่องคือไอ้ขวัญและอีเรียมซึ่งอยู่บริเวณทุ่งบางกะปิ นำมาเป็นจุดขายในการสร้างเป็นตลาดน้ำขวัญ – เรียม ที่เป็นตลาดน้ำในคลองแสนแสบระหว่าง 2 วัด คือ วัดบำเพ็ญเหนือและวัดบางเพ็งใต้ เปิดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น โดยในช่วงเช้าเวลา 07.30 น. จะมีพระ – เณรพายเรือมารับบาตรจากญาติโยมที่มารอใส่บาตร อีกทั้งสองวัดมีสะพานเชื่อมฝั่งคลองถึงกัน ริมคลองมีของขายมากมายทั้งของกินของใช้ของที่ระลึก ส่วนในลำคลองแสนแสบมีเรือหลายขนาดมาจอดขายอาหาร นั่งกินนั่งดื่มในเรือหรือแพ และทางฝั่งวัดบางเพ็งใต้เป็นตลาดเก่าแบบตลาดร้อยปี ได้บรรยากาศย้อนยุค
สำหรับกิจกรรมเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” ศน.ดำเนินงานต่อยอดและขยายผลจากปีที่ผ่านมา โดยร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด คัดเลือกสถานที่ที่มีประเพณีโดดเด่น มีวัดอยู่ใกล้ชุมชน มีการให้บริการจัดของตักบาตรให้กับนักท่องเที่ยว การบริการเช่าชุดพื้นถิ่น การจัดพื้นที่แสดงสินค้าสำหรับชุมชน ฯลฯ ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชน และส่งผลให้มีการพัฒนาต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในเมืองหลักและเมืองรอง เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 10 แห่ง ได้แก่ ตักบาตรสะพานมอญ จ.กาญจนบุรี นุ่งซิ่น นั่งสาด ตักบาตร 9 วัด จ.กาฬสินธุ์ ตักบาตรวัดไทยสามัคคี จ.ตาก ทำบุญตักบาตร ยลวิถีลาวเวียง จ.นครนายก ชิมหนม ชมหลาด ตักบาตร หลาดลองแล จ.พังงา ตักบาตรทางน้ำ ริมคลองข้าวตอก จ.พิจิตร ตักบาตรพระทางน้ำวัดธาราวดี (บางจาก) จ.นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรีรวมใจ ตักบาตร เติมบุญ สร้างกุศลวิถีไทย จ.ปราจีนบุรี ถนนบิณฑบาต ตามรอยหลวงปู่มั่น จ.สกลนคร และตักบาตรวัดปานประสิทธาราม จ.สมุทรปราการ
ด้าน นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวการจัดงานโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน ว่า เพื่อกระตุ้นพุทธศาสนิกชนได้ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนา น้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิต นอกเหนือจากวันธรรมสวนะและในโอกาสต่างๆ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดทุนทางวัฒนธรรม (Soft Power) ทำให้ก่อเกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ กระแสการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระดับชุมชนและรอบศาสนาสถาน
เชิญชวนพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวร่วมสืบสานวิถีพุทธ ใส่บาตร ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน