วันที่ 29 ม.ค.68 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรการส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลม จากเชื้อ Colletotrichum siamense (ใบร่วงชนิดใหม่) ประจำปี 2568 เพื่อส่งต่อความรู้ชาวสวนยางรับมือโรคใบร่วง ลุยสร้างความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยาง โดยมี ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คณะผู้บริหาร กยท. ร่วมพิธี ณ โรงแรมณัฐพงษ์ แกรนด์ จ.หนองบัวลำภู

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวว่า โรคใบร่วงชนิดใหม่ยางพารา มีการแพร่ระบาดครั้งแรกในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญโดยเฝ้าติดตามสถานการณ์และกำหนดนโยบายเพื่อควบคุมและจัดการโรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และกำจัดโรค พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยางมาโดยตลอด มีการทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดเชื้อรา การสนับสนุนเครื่องพ่น ค่าแรงในการพ่น และปุ๋ย รวมถึงพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรคใบร่วงชนิดใหม่ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่โรคระบาดรุนแรง การสร้างการรับรู้ เฝ้าระวังและเตือนภัย รวมถึงมาตรการที่ช่วยในการยับยั้งเชื้อ ด้วยการใช้สารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชีวภัณฑ์หรือสารอื่นๆ เพื่อป้องกัน กำจัด และควบคุมโรค ปรับปรุงสภาพดิน สร้างความแข็งแรงให้ต้นยาง ตลอดจนการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัด กษ. ทั้งกรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน และ กยท. ในการรวบรวมปลาหมอคางดำมาเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพมาตรฐาน พด. ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยฟื้นฟูสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum siamense (ใบร่วงชนิดใหม่)

ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดดำเนินการโดยมุ่งเป้าหมายเพื่อลดการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคในพื้นที่สวนยางของเกษตรกรฯ สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ กยท. นำทั้งข้อมูลความรู้และคำแนะนำจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมามอบให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มาร่วมงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญเพื่อให้ชาวสวนยางสามารถรับมือและจัดการสวนยางได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพชาวสวนยางในที่สุด

ด้านนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. ตระหนักและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรคระบาดในสวนยาง โดยเฉพาะโรคใบร่วงชนิดใหม่ ปัจจุบันเรียกว่า โรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum siamense โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พบใน จ.หนองคาย จ.อุดรธานี จ.บึงกาฬ และ จ.เลย เป็นพื้นที่รวม 3,215 ไร่ ดังนั้น การส่งเสริมความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับชาวสวนยางในพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่ กยท. ให้ความสำคัญ การจัดโครงการอบรมหลักสูตรการส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum siamense (ใบร่วงชนิดใหม่) ประจำปี 2568 เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ในการนำเอาน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยฟื้นฟูต้นยางพาราที่ได้รับผลกระทบจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ และหวังว่าความรู้ที่เกษตรกรฯ ได้ความรู้จากวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญในครั้งนี้ จะช่วยให้เกษตรกรฯ สามารถสำรวจต้นยางในสวนยางที่อาจจะเกิดโรค พร้อมสามารถรับมือและจัดการกับโรคใบร่วงในสวนยางของตนเองได้ นอกจากนี้ กยท. ยังมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในระยะยาว โดยพนักงานของ กยท. ที่ปฏิบัติงานทั้ง 7 เขตทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับชาวสวนยาง จะสามารถส่งต่อข้อมูลความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ และพร้อมเข้าไปช่วยเหลือให้คำแนะนำเพื่อนำไปรับมือกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราต่อไป