วันที่ 29 ม.ค.2568 เมื่อเวลา10.00น. ที่กระทรวงมหาดไทย(มท.) นายอนุทิน​ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เรื่อง ติดตามปัญหาหมอกควัน ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมีหน่วยงานต่างๆ​เข้าร่วม​ และยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด76จังหวัด ร่วมประชุมรับมอบนโยบายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  เพื่อติดตามสถานการณ์หมอกควันฝุ่นละออง PM 2.5 และผลการดำเนินงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพื่อลดมลพิษ

โดยก่อนเริ่มการประชุมนายอนุทิน ได้อวยพรเนื่องในช่วงเทศกาลตรุษจีน​ ซินเจียยู่อี่ซินนี้ฮวดใช้​ ขอให้ท่านประสบความสำเร็จ มีแต่ความเจริญก้าวหน้า สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง

นายอนุทิน​ กล่าวระหว่างการประชุมว่า นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงต่อสถานการณ์นี้เป็นอย่างมาก ได้ติดต่อติดตาม ประสานงาน เรียกประชุมหารือ กับตนตลอดเวลา ในช่วงที่เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งได้ยืนยันไปว่าทุกคนมีความพร้อมรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5​ โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ขอให้เชิญและแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย​ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายประเสริฐ​ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายจิรายุ​ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของกองบัญชาการอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยให้นายจิรายุทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆให้ประชาชนตระหนักรู้ จะได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 27ม.ค. ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์ ซึ่งพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นพื้นที่ Hotspot มากที่สุด มีการเผาในที่โล่งแจ้ง เผาวัชพืช ผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศพื้นที่ห้ามเผาเป็นที่เรียบร้อยและได้มีการสั่งการยกระดับดำเนินการทุกมาตรการอย่างเข้มข้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ระบบบริหารจัดการแบบ Single Command ในการ บรรเทาสาธารณภัยแก้ปัญหา โดยนอกจากอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วยังใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย​ภัยแห่งชาติ​เพื่อการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานเป็นตัวแทนรัฐบาล​ ทำงานร่วมกันไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยสั่งการ​ จึงขอให้ร่วมมือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเสียหายน้อยที่สุด

นายอนุทิน​ กล่าวว่า ​มูลเหตุมาจากการเผา หากทำให้ประชาชนไม่เผาได้ มลพิษก็จะเกิดขึ้นน้อยมาก จึงไม่ต้องกังวลว่าเพื่อนบ้านจะทำอย่างไร เราต้องจัดการในบ้านของเราให้เรียบร้อยก่อน ถ้าในบ้านเราเรียบร้อยแล้วแล้วยังมีเหตุ มาจากเพื่อนบ้าน ก็จะมีความกดดันมายังรัฐบาล​รัฐบาลก็จะต้องเร่งไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในการแซงชั่น ไม่อุดหนุนสินค้าทางการเกษตร หากมาจากการเผาวัชพืชเหล่านี้ และก่อให้เกิดมลพิษข้ามมายังประเทศเรา

สิ่งสำคัญคือเราต้องดำเนินการแก้ไขในบ้านของเราให้เรียบร้อยเสียก่อน เพราะวันนี้โอกาสสร้างเศรษฐกิจตอนนี้เปลี่ยนไป ชาวบ้านเปลี่ยนจากการผลิตพืชผลทางการเกษตรระยะยาวมา​ มาเป็นพืชระยะสั้น​ เพราะปลูกมะม่วง มังคุด ทุเรียน ปลูกส้ม ช้า 3 ปีไม่ได้อะไรเลย ตลาดโลกใหญ่ขึ้นมีผลิตภัณฑ์แปรรูป จะขึ้นหมุนเวียนมากมายมันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ของพวกนี้ปลูกได้ทั้งปี หมุนแล้วหมุนอีก ถึงทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เขาคิดว่าสามารถปลูกพืชหมุนเวียนเหล่านี้ได้หลายรอบมากที่สุด และต้องเร่งก่อให้เกิดการปลูกครั้งใหม่ให้เร็วที่สุด จึงต้องเผา

นายอนุทิน​ กล่าวว่า​ ทุกหลังคาเรือนปลูกพืชผลทางการเกษตรเช่นนี้ ซากที่เกิดขึ้นเช่นซังข้าวโพด ในหนึ่งตำบล มีอยู่ประมาณ 100 กองกองละ 700,000 กิโลกรัม​ ถ้าไม่ได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง คิดว่าคงอะลุ่มอล่วยได้  ที่อำเภอแม่แจ่ม อำเภอเดียวอาจทำให้ หมอกควันปกคลุมทั้งประเทศไม่ใช่แค่เชียงใหม่อย่างเดียวทำให้เกิดความเสียหายมหาศาล ซึ่งต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด หาทางเลือก เช่นที่เชียงใหม่ที่ทำคือให้มีการฝังกลบ หรือแปรสภาพ เศษซังข้าวโพด ซึ่งรัฐต้องสนับสนุน เครื่องจักรเข้าไป​ หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงไบโอเพาเวอร์ เอาไปเป็นไอน้ำความร้อนฝ่ายผลิตไฟฟ้า เอาไปแปรสภาพเป็นอาหารสัตว์ หรือทำปุ๋ยชีวภาพ​ แต่ภาครัฐต้องช่วย

นายอนุทิน​ กล่าวอีกว่า​เราเจอภัยพิบัติมาโดยตลอด ต้นปีภาคเหนือไตรมาส 3 ภาคกลาง ไตรมาส 4 ภาคใต้ เราใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาท เป็นค่าชดเชยทดแทนความเดือดร้อน หลังคาเรือนละ 9,000 บาท เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็ใกล้เคียงกัน น้ำลดหรือเพิ่มเกิน 3 วันชาวบ้านได้เงิน แต่กรณีหมอกควันยังไม่เกิด เราจะเอาเงินไปให้ชาวบ้านก่อนไม่ได้ มันต้องเกิดการเผาเกิดมลพิษควันดำก่อน​  กว่าจะเอาเงินออกมาได้ความเสียหาย ค่ามลพิษต้องเกิน 150 ไมโครกรัม หากไปถึงจุดนั้นประเทศไทยมืดมิดไปทั้งประเทศ ถึงจะนำเงินไปใช้ได้

ดังนั้นธรรมชาติไม่เหมือนกัน มีเงินแต่การใช้ไม่เหมือนกัน จึงขอข้อแนะนำช่วยกันคิดการสนับสนุนของแต่ละจังหวัด ในการผลักดันให้มีงบช่วยเหลือ ชาวบ้านก่อนเพื่อที่จะให้หยุดเผา เป็นจุดที่ต้องวางมาตรการ​ มันดูเหมือนภัยพิบัติแต่การช่วยเหลือแตกต่างกัน ในส่วนนี้ขอความร่วมมือทุกฝ่ายความมั่นคงทหารตำรวจภาครัฐเกษตรทรัพยากร และหน่วยงานเทคโนโลยีให้ช่วยกัน ส่วนที่บังคับใช้กฎหมายก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเดือดร้อน